ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อดีต ส.ส.ร.ชี้แก้รธน. ชอบด้วยกระบวนการ

การเมือง
5 เม.ย. 56
14:21
110
Logo Thai PBS
อดีต ส.ส.ร.ชี้แก้รธน. ชอบด้วยกระบวนการ

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 2550 ตามกลไกของรัฐสภาที่ลงมติเห็นชอบในหลักการของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรานั้น อดีต ส.ส.ร. ปี 2540 และ ปี 2550 มั่นใจว่า เป็นไปตามเจตนาที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้ พร้อมชี้ว่า ผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ตามคำร้องของ ส.ว.กลุ่ม 40 จะไม่กระทบต่อกระบวนการแก้ไขรายมาตราครั้งนี้ เนื่องจากเชื่อว่า ทุกฝ่ายต่างมีบทเรียนจากการแก้ไขมาตรา 291 จึงไม่น่าจะสร้างปัญหารอบใหม่ให้เกิดขึ้นอีก

กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญโดยรัฐสภาด้วยการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ รายมาตรา รวม 3 ฉบับ เพื่อแก้ไข 4 ประเด็น 11 มาตรา แม้จะมีข้อทักท้วงถึงการแก้รัฐธรรมนูญที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเฉพาะการแก้มาตรา 68 กรณีคงสิทธิประชาชนในการพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการยื่นผ่านอัยการสูงสุด ซึ่งอาจเข้าข่ายลิดรอนสิทธิของประชาชน แต่นายเดโช สวนานนท์ อดีต ส.ส.ร. ทั้งที่เคยทำหน้าที่ในปี 2540 และในปี 2550 กลับเห็นต่างไปจากข้อสังเกตที่เกิดขึ้น

โดยนายเดโช สวนานนท์ ตีความเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของส.ว.กลุ่ม 40 ไว้วินิจฉัย แต่ไม่มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อระงับเหตุการกระทำให้ฟังว่า ศาลต้องการชี้ให้เห็นถึงความชัดเจนในการยื่นพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้โดยตรงและยึดบรรทัดฐานเดิมที่เคยรับคำร้องไว้ แต่การไม่คุ้มครองก็มีนัยให้เชื่อได้ว่า การแก้รัฐธรรมนูญเป็นอำนาจโดยชอบของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งศาลไม่ก้าวล่วงในดุลอำนาจของแต่ละฝ่าย

อดีต ส.ส.ร. ผู้ร่วมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญถึง 2 ฉบับ กล่าวย้ำถึงบทบาทหน้าที่และเป็นอำนาจโดยชอบในการแก้รัฐธรรมนูญนั้น ประกอบไปด้วย คณะรัฐมนตรี,สมาชิกรัฐสภาและประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาตรา 291 ระบุไว้อย่างชัดเจนแล้ว

ส่วนข้อเคลือบแคลงสงสัย กรณีการปฏิบัติหน้าที่ของประธานและรองประธานรัฐสภาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การประชุมรัฐสภาที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ หรือการพิจารณารายละเอียดของร่างกฎหมายที่เรียกว่า "ขั้นแปรญัตติ" ไม่มีสัดส่วนหรือสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรไม่รับตำแหน่ง อดีต ส.ส.ร.ชี้ว่าเป็นกระบวนการภายในของรัฐสภา ที่ไม่เข้าข่ายยื่นฟ้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้


ข่าวที่เกี่ยวข้อง