ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นับถอยหลังหลักสูตร "นิเทศศาสตร์ ม.ศิลปากร"

ศิลปะ-บันเทิง
7 เม.ย. 56
14:22
1,192
Logo Thai PBS
นับถอยหลังหลักสูตร "นิเทศศาสตร์ ม.ศิลปากร"

อยู่ระหว่างจัดฉายภาพยนตร์ผลงานจุลนิพนธ์ก่อนจบการศึกษา ว่าที่บัณฑิตและคณาจารย์ศิลปากร กลับต้องยินดีท่ามกลางปัญหา เมื่อศูนย์การศึกษาบางรัก ของหลักสูตรนิเทศศาสตร์บัณฑิต ไม่ผ่านการตรวจประเมินจาก สกอ. มีผลต่ออนาคตการจัดการศึกษา รวมถึงการรับนักศึกษาใหม่ปี 2556

1 คนต่อ 1 ผลงานหนังสั้น ฝีมือกำกับเขียนบทโดยว่าที่บัณฑิตเอกภาพยนตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมนำเสนอเป็นผลงานจุลนิพนธ์ก่อนจบการศึกษา หากครั้งนี้กลับเป็นปีที่ชาว ICT ศิลปากร ต้องเจอปัญหา หลังสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือ สกอ. ยืนยันให้ทางคณะย้ายกลับไปจัดการศึกษาหลักที่วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี แทนที่อาคาร สกท.บางรัก ที่เช่าทำการเรียนการสอนอยู่ และหากไม่ดำเนินการทันที จะมีผลกับผู้เข้าศึกษาต่อในปี 2556 ที่ สกอ.จะไม่รับรองหลักสูตร

<"">
<"">

 

"เราถูก สกอ.ตำหนิเรื่องจัดการศึกษานอกสถานที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้เราต้องกลับไปยังสถานที่ ถ้าเขาอยากเรียน เขาต้องไปเรียนที่เพชรบุรี อันนี้ก็ซื้อใจกันแล้วแหละว่าอยากเรียนจริงหรือเปล่า" นฤชร สังขจันทร์ รองคณบดี ฝ่ายบริหาร คณะ ICT ม.ศิลปากร

"เสียดายโอกาสใจน้องๆ ที่ตั้งใจจะแอดมิดชั่นเข้ามาหรือสนใจในคณะเรา มันไม่ใช่หลักร้อย แต่มันเป็นหลักหลักพันและหลายพัน ก็เสียดายที่การเรียนการสอนที่สามารถสร้างคนให้เป็นมืออาชีพทำงานจริงได้ จะหายไป" โชติ ปรัชญาธรรมกร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะ ICT ม.ศิลปากร

<"">
<"">

 

นิเทศศาสตร์ศิลปากร ถือว่าเป็นหลักสูตรน้องใหม่ ถ้าเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่น แต่ก็เกิดขึ้นเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ก้าวไปสู่การบริโภคสื่อใหม่มากขึ้น ที่บุคลากรด้านนิเทศศาสตร์ ต้องเชี่ยวชาญการออกแบบและเท่าทันเทคโนโลยี ซึ่งเทศกาลฉายภาพยนตร์จุลนิพนธ์ของนักศึกษาเอกภาพยนตร์ รุ่นที่ 3 เป็นเหมือนภาพแทนความสามารถของเด็กที่ใกล้จะได้ทำงานในสายวิชาชีพ แต่ก็เป็นความชื่นชมยินดี ท่ามกลางความไม่มั่นใจว่าคณะจะสามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นที่ 7 ได้อีกหรือไม่หรือเมื่อไหร่

ความพร้อมของห้องปฏิบัติการ ตลอดจนเครื่องมืออุปกรณ์ที่ใช้ในหลักสูตรนิเทศศาสตร์ ภายในศูนย์การศึกษาบางรัก ที่มีมากกว่าวิทยาเขตเพชรบุรี ทำให้ระหว่าง 6 ปี ที่เปิดสอน นักศึกษาสาขาวิทยุและโทรทัศน์ ภาพยนตร์ และการโฆษณา ทุกชั้นปีเรียนร่วมกันที่นี่ โดยจุดเด่นอยู่ที่ มีอาจารย์พิเศษในสายอาชีพ เช่น ผู้กำกับภาพยนตร์ นักโฆษณา มาให้ความรู้จากประสบการณ์ตรง  แต่กลับเป็นจุดอ่อนที่ สกอ.เห็นว่าไม่สามารถรับรองมาตรฐานได้เท่ากับอาจารย์ประจำ การต้องเปลี่ยนทั้งสถานที่เรียน และเพิ่มจำนวนอาจารย์ประจำให้มากขึ้น จากเดิมที่มีน้อยกว่าครึ่งของผู้สอน จึงส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนอย่างเลี่ยงไม่ได้

<"">
<"">

 

"3 เทอมแรกเรียนกับอาจารย์ประจำ แต่ถ้าหลังจากนั้นจะผสมผสาน แต่อย่างปี 4 เรียนกับอาจารย์พิเศษล้วนๆ เลย เพราะเราต้องการให้เด็กจบออกไปแล้วทำงานได้เลย" ผศ.ชัยชาญ ถาวรเวช อธิการบดี ม.ศิลปากร

"ในที่ที่เขาย้ายไป มันไม่มีอะไรที่มาปะทะ ซึ่งเรามองว่ามันจำเป็นกับเด็กที่เรียนด้านนี้ คือถ้าเรียนอะไรที่มันใช้สมาธิมาก ที่ไกลๆก็เหมาะ แต่ถ้าเรียนอะไรที่ต้องการการปะทะ การได้เห็นอะไรใหม่ๆ มันอาจจะเหนื่อยกับเขาเกินไป ที่ต้องเข้าออกระหว่างที่เรียนกับเมือง" นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ผู้กำกับภาพยนตร์/อาจารย์พิเศษ คณะ ICT ม.ศิลปากร

<"">
<"">

 

"เราจะได้รู้ว่ากล้องรุ่นนี้มันยังไง มีคุณสมบัติยังไง เป็นสิ่งที่ได้จากอาจารย์พิเศษ ได้รู้จากประสบการณ์ การทำงานจริงของคนทำงาน แต่อย่างอาจารย์ประจำก็จำเป็นเรื่องเนื้อหาทฤษฎี มันต้องมี 2 อย่างไปด้วยกัน" พีรดล อัมรินทร์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ม.ศิลปากร

ปีที่ผ่านมาคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร ติดอันดับ 5 ของประเทศ ที่มีผู้ประสงค์ศึกษาต่อมากที่สุด มีผลงานเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการและวิชาชีพ ทั้งที่เพิ่งเปิดสอนได้เพียง 10 ปี  การปรับรูปแบบการศึกษานับจากนี้ ทำให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ต้องย้ายไปเรียนในวิทยาเขตเพชรบุรี ซึ่งคณาจารย์ยังคงตั้งใจผลิตบุคลากรคุณภาพด้านนิเทศศาสตร์เช่นเดิม


ข่าวที่เกี่ยวข้อง