พื้นที่นากว่า 30 ไร่ของนายกมล สังข์อ่อน ชาวนาหมู่ที่ 8 ต.เขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์ ยังคงเขียวขจี แม้พื้นที่รอบๆจะแห้งแล้งและกำลังประสบปัญหาภัยแล้งก็ตาม เพราะกมล ได้น้อมนำทฤษฎีเกษตรผสมผสานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับปรุงใช้ในนาของตัวเอง ด้วยการขุดร่องน้ำรอบพื้นที่นา พร้อมกับขุดสระเก็บน้ำไว้ทั้งหัวและท้ายแปลงนา เพื่อกักเก็บน้ำทำให้มีน้ำหมุนเวียนใช้ได้ตลอดทั้งปี
ไม่แตกต่างกับนายบุญเกิด หุ่นอินทร์ ชาวนาหมู่ที่ 2 ต.บึงเสนาท อ.เมืองนครสวรรค์ ที่คิดหาวิธีให้ตัวเองสามารถทำนาในช่วงฤดูแล้งด้วยการปรับพื้นที่นาทั้งหมดพร้อมกั้นแปลงนาเป็นล็อคเล็กๆและให้มีระดับสูงต่ำกว่ากัน 50 เซนติเมตร เพื่อใช้สำหรับระบายน้ำส่งต่อกันเป็นทอดๆ เหมือนการทำนาแบบขั้นบันได ทำให้สามารถปลูกข้าวได้โดยไม่ต้องใช้น้ำจากลำคลองสาธารณะ อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จายจากการสูบน้ำด้วย
ภัยแล้งที่ขยายวงกว้างในจังหวัดนครสวรรค์ ทำให้ขณะนี้ทางจังหวัดประกาศให้พื้นที่ 14 อำเภอจากทั้งหมด 15 อำเภอเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินแล้ง มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนรวม 68 ตำบล พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 270,000 ไร่ พร้อมประกาศให้เกษตรกรยุติการทำนาปรังรอบที่ 2 เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูง