ก.เกษตรฯตรวจเข้มสินค้าปศุสัตว์ ประมง พืชผักในตลาดค้าส่ง-ค้าปลีก
สั่งตรวจเข้มสินค้าปศุสัตว์ ประมง พืชผักในตลาดค้าส่ง-ค้าปลีก รุกลงพื้นที่ตลาดไท ห้างสยามแม็คโคร คลองหลวง ตลาดสี่มุมเมือง ห้างเทสโก้โลตัส เตรียมขยายผลครอบคลุม 77 จังหวัด มุ่งเฝ้าระวังความปลอดภัยสินค้าเกษตร-อาหาร ปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศ
นายนิวัติ สุธีมีชัยกุล รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมวิชาการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)ลงพื้นที่เพื่อสุ่มตรวจสินค้าเกษตรในตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีก เพื่อให้กระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งรับผิดชอบโดยกระทรวงสาธารณสุขมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ถือเป็นกลยุทธ์ตรวจสอบย้อนกลับที่กระทรวงเกษตรฯจะใช้เป็นข้อมูล เพื่อกำกับดูแลการผลิตสินค้าเกษตรในระดับฟาร์ม/ไร่นาอีกครั้ง
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้สุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าปศุสัตว์ ประมง และสินค้าพืชผักและผลไม้ในตลาดไท และห้างสยามแม็คโคร สาขาคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี มาตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ โดยเก็บตัวอย่างเนื้อสัตว์จากร้านค้า ทั้งเนื้อโค เนื้อสุกร และเนื้อไก่รวม 12 ตัวอย่าง และเครื่องในสัตว์ 10 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์สารตกค้าง ได้แก่ สารเบต้าอะโกนิสท์ สารไนโตรฟูแรนส์ และตรวจวิเคราะห์เชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อน
ขณะเดียวกันยังสุ่มเก็บตัวอย่างปลาทับทิม ปลานิล ปลาดุกรัสเซีย ปลาดุกอุย และกุ้งขาว รวม 18 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์การตกค้างของสารปฏิชีวนะ พร้อมสุ่มเก็บตัวอย่างพืชผักและผลไม้จากทั้ง 2 ตลาดดังกล่าวรวม 38 ตัวอย่าง มาตรวจวิเคราะห์สารเคมีตกค้างด้วย ซึ่งผลตรวจวิเคราะห์สินค้าส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ปลอดภัย อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯได้มอบหมายให้ มกอช.เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนลงพื้นที่สุ่มตรวจสินค้าเกษตรที่วางจำหน่ายในตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีกอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ ตลาดสี่มุมเมือง และห้างเทสโก้ โลตัส เพื่อบูรณาการร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการเฝ้าระวังสินค้าเกษตรและอาหารภายในประเทศให้มีความปลอดภัยสูงขึ้น
นายนิวัติกล่าวว่า หากตรวจพบว่า มีสารเบต้าอะโกนิสต์หรือสารไนโตรฟูแรนส์ตกค้างในเนื้อสัตว์และเครื่องในสัตว์ จะให้กรมปศุสัตว์ติดตามตรวจสอบไปที่แหล่งผลิตหรือฟาร์มเลี้ยงเพื่อแก้ปัญหาโดยเร็ว ถ้าพบเชื้อจุลินทรีย์ปนเปื้อนจะให้เร่งตรวจสอบย้อนกลับไปยังโรงฆ่าสัตว์เพื่อหาสาเหตุของการปนเปื้อน พร้อมกำกับและควบคุมโรงฆ่าสัตว์ให้มีการปฏิบัติที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยตามมาตรฐานที่กำหนด กรณีสินค้าประมงมีปัญหาก็จะให้กรมประมงเร่งตรวจสอบย้อนกลับและดำเนินการแก้ไขทันที
“ถ้าตรวจพบสารเคมีตกค้างในสินค้าพืชผักและผลไม้ กรมวิชาการเกษตรต้องเร่งตรวจสอบว่าเป็นวัตถุอันตรายที่ห้ามใช้ทางการเกษตรหรือไม่ ทั้งยังต้องตรวจสอบย้อนกลับไปยังแหล่งผลิตสินค้าด้วยว่า มาจากแปลงที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจีเอพี(GAP) หรือมาจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP แล้ว โดยต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน นอกจากนั้น ยังย้ำให้กรมวิชาการเกษตรเร่งติดตามเฝ้าระวังสินค้าพืชผักและผลไม้ที่มีความเสี่ยงในแปลงปลูก พร้อมเก็บตัวอย่างจากตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีก และห้างสรรพสินค้ามาตรวจสอบอย่างต่อเนื่องด้วย” รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กล่าว
นายนิวัติกล่าวอีกว่า กระทรวงเกษตรฯได้ขอความร่วมมือตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีกต่างๆ ให้รับเฉพาะพืชผักและผลไม้ที่มาจากแปลงที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เข้ามาจำหน่าย ซึ่งจะไม่มีปัญหาสารเคมีตกค้างปนเปื้อน และในอนาคตกระทรวงเกษตรฯได้กำหนดแผนขยายผลการติดตามเฝ้าระวังและสุ่มตรวจสินค้าเกษตรไปยังตลาดค้าส่งและตลาดค้าปลีกให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด เพื่อร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขในการปกป้องผู้บริโภคภายในประเทศให้ได้รับสินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยทัดเทียมกับสินค้าส่งออก