สธ.ยันความพร้อมรับมือ H7N9-สั่งเฝ้าระวังสัตว์ปีกตายผิดปกติ
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เชื้อไข้หวัดนกทั้ง 2 สายพันธุ์ อยู่ในตระกูลของไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ ทั้งคู่ จากข้อมูลทั่วโลกขณะนี้ยังไม่พบหลักฐานการแพร่จากคนสู่คน โดยมาตรการเฝ้าระวัง ได้สั่งการให้อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศเฝ้าระวังไข้หวัดนก หากพบสัตว์ปีกป่วยหรือตายผิดปกติ ขอให้แจ้งปศุสัตว์ เพื่อเก็บซากสัตว์ปีกไปตรวจหาเชื้อ และหากพบผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศและมีอาการปอดบวม ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ทั้งนี้ยังไม่มีข้อห้ามการเดินทางไปต่างประเทศที่มีรายงานผู้ป่วย และมีคำแนะนำสำหรับประชาชนในการป้องกันไข้หวัดนก อาทิ รับประทานเนื้อสัตว์ปีกและไข่สุก /หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่ป่วยหรือตาย/ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหลังสัมผัสสัตว์ปีก หากมีไข้ ไอ ปวดเมื่อย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกหรือสัมผัสผู้ป่วยปอดบวม ให้แจ้งประวัติการสัมผัสกับแพทย์ผู้รักษา
นอกจากนี้ ได้ให้โรงพยาบาลทุกแห่ง เฝ้าระวังผู้ป่วยที่เป็นโรคปอดบวมรุนแรงทุกราย เพื่อซักประวัติ คัดแยก ว่าติดเชื้อไข้หวัดนกหรือไม่ โดยขณะนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ทุกแห่ง มีความพร้อมการตรวจยืนยันเชื้อไข้หวัดนกตลอด 24 ชั่วโมง และกระทรวงสาธารณสุข ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ไว้ในโรงพยาบาลทุกแห่ง และสำรองไว้ส่วนกลางประมาณ 4 ล้านเม็ด
ก่อนหน้านี้ รายงานสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในประเทศไทย เริ่มตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2547 ที่พบเชื้อไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ครั้งแรก ที่อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี จนถึงปลายปี 2549 มีการระบาดถึง 4 รอบ มีสัตว์ปีกล้มตายเป็นจำนวนมากในภาคกลางและภาคใต้ตอนล่างของประเทศไทย
โดยโรคได้แพร่ระบาดติดต่อสู่คน มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนก 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย ขณะที่รายงานของ WHO ตั้งแต่ปี 2546-2550 พบผู้ป่วยยืนยันไข้หวัดนก 12 ประเทศ รวม 329 ราย และเสียชีวิต 201 ราย