รัฐจัดเก็บภาษี ทำรายได้เกินเป้า แค่ช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่าในเดือนมีนาคม 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 151,037 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,878 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 โดยสาเหตุสำคัญมาจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ เป็นผลจากรายได้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการสืบเนื่องจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555 - มีนาคม 2556) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 978,834 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 94,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7
จากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลังที่สูงกว่าเป้าหมาย 59,922 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 โดยมีสาเหตุสำคัญจากภาษีรถยนต์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย บ่งชี้ถึงอุปสงค์ภายในประเทศ รายได้ภาคครัวเรือน และภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการจัดเก็บรายได้ของหน่วยงานอื่นและการนำส่งรายได้รัฐวิสาหกิจที่สูงกว่าเป้าหมาย 41,871 ล้านบาท และ 5,776 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.0 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ
นายสมชัยฯ กล่าวว่า จากมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาวะเศรษฐกิจในประเทศขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปสงค์ภายในประเทศ ทำให้มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ 2.1 ล้านล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้
1. เดือนมีนาคม 2556 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 151,037 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1,878 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 3.6) โดยรายได้ที่จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการที่สำคัญได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,075 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.8 เป็นผลจากการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้รายได้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น และ (2) ภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 2,295 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.9 สืบเนื่องจากการส่งมอบรถของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ในโครงการรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ดี รายได้รัฐบาลที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 3,354 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5 เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้าจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัว ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการบริโภคในประเทศจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 728 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.5 สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดี และ (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,451 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.9 เนื่องจากภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิและภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาคเอกชน ที่จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
2. ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม 2555– มีนาคม 2556) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 978,834 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 94,856 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 18.7) ซึ่งเป็นผลจากการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสังกัดกระทรวงการคลัง หน่วยงานอื่น และรัฐวิสาหกิจ สูงกว่าเป้าหมาย 59,922 ล้านบาท 41,871 ล้านบาท และ 5,776 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.4 ร้อยละ 78.0 และร้อยละ 12.8 ตามลำดับ สะท้อนถึงอุปสงค์ภายในประเทศและรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี การคืนภาษีของกรมสรรพากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้ อบจ. และการกันเงินชดเชยการส่งออกสูงกว่าประมาณการรวม 12,713 ล้านบาท
ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุป ดังนี้
2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 702,632 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 36,154 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 16.7) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 15,175 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.5) สะท้อนถึงรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวได้ดีตามการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (2) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 7,879 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 15.5) สาเหตุมาจากการบริโภคในประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง
โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศสูงกว่าเป้าหมาย 12,502 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.2 ในขณะที่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการนำเข้าต่ำกว่าเป้าหมาย 4,602 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.7 เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่ชะลอตัว และ (3) ภาษีธุรกิจเฉพาะจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,342 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 25.4) เป็นผลจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นสำคัญ
2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 231,105 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 22,959 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 28.9) โดยภาษีรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 25,100 ล้านบาท หรือร้อยละ 40.6 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 102.2) เป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ ขณะที่ภาษียาสูบและภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 4,272 ล้านบาท และ 3,384 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.6 และร้อยละ 9.7 ตามลำดับ สืบเนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบและสุราเมื่อเดือนสิงหาคม 2555
ส่วน ภาษีสุราจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,559 ล้านบาท หรือร้อยละ 11.4 เนื่องจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีทำให้ราคาขายปลีกสุราเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสุราลดลง สำหรับภาษีน้ำมันจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าหมาย 8,022 ล้านบาท หรือร้อยละ 20.3
2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 58,659 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 809 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.3) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 727 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 1.4) เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก ทั้งนี้ สินค้าที่จัดเก็บอากรขาเข้าได้สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์เหล็กและเหล็กกล้า
2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 50,760 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 5,776 ล้านบาทหรือร้อยละ 12.8 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 11.1) เนื่องจากธนาคารออมสินนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2555 สูงกว่าประมาณการ 3,793 ล้านบาท และการเหลื่อมการนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2554 ของบมจ.กสท โทรคมนาคม จำนวน 2,870 ล้านบาท (จากที่ประมาณการไว้ว่าจะนำส่งในเดือนพฤษภาคม 2556)
2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 95,526 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 41,871 ล้านบาท หรือร้อยละ 78.0 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 70.8) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรายได้สัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 5,144 ล้านบาท สาเหตุมาจากปริมาณปิโตรเลียมที่ขุดเจาะได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับกรมธนารักษ์จัดเก็บสูงกว่าเป้าหมาย 1,404 ล้านบาท จากการจ่ายแลกเหรียญกษาปณ์หมุนเวียนและเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกเป็นสำคัญ
นอกจากนี้ยังมีรายได้พิเศษ ได้แก่ (1) รายได้จากการประมูลให้ใช้คลื่นความถี่ 3G ย่าน 2.1 GHz จำนวน 20,843 ล้านบาท (2) การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 8,227 ล้านบาท (3) การเหลื่อมการนำส่งรายได้จากกำไรสุทธิประจำปี 2553 ของ กสทช. จำนวน 1,655 ล้านบาท (4) เงินชำระหนี้ค่าข้าวจากโครงการขายข้าวรัฐบาลรัสเซียจำนวน 1,118 ล้านบาท (5) เงินรับคืนจากโครงการจัดจ้างผลิตเล่มหนังสือเดินทางอิเล็กทรอนิกส์ (E-Passport) ระยะที่ 1 จำนวน 913 ล้านบาท และ (6) การส่งคืนเงินบำรุงองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (TPBS) จำนวน 616 ล้านบาท
2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 144,856 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,686 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.8 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 119,236 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 13,179 ล้านบาท หรือร้อยละ 12.4 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 25,620 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 1,493 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.5
2.7 การจัดสรรรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด และเงินกันชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก จำนวน 7,742 ล้านบาท และ 7,250 ล้านบาท ตามลำดับ สูงกว่าประมาณการ 501 ล้านบาท และ 526 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.9 และร้อยละ 7.8 ตามลำดับ