ติดตาม พ.ร.ก.จัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท
เวลานี้อาจเป็นช่วงงานหนักของเอกชน 6 กลุ่มบริษัทที่ผ่านเกณฑ์เข้าร่วมประมูลโครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดยงานหินที่สุด คือ กลุ่มงานก่อสร้างก่อสร้างฟลัดเวย์และอ่างเก็บน้ำ โดยเฉพาะลุ่มน้ำยมซึ่งเป็นแห่งเดียวที่ยังไม่มีเครื่องมือบริหารจัดการน้ำ ทั้งที่บางโครงการ กรมชลประทานศึกษาทิ้งไว้นานเกือบ 30 ปี แต่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้
มาครั้งนี้ รัฐบาลให้เอกชนรับความเสี่ยงทั้งหมด พร้อมกำหนดให้เริ่มงานศึกษาความเหมาะสม ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชุมชนใหม่ ก่อนจัดทำบัญชีแสดงปริมาณงานและราคา ซึ่งรวมค่าเวนคืนที่ดินและค่าใช้จ่ายทุกรายการต้องไม่เกินวงเงินที่กำหนด ก่อนเข้ายื่นซองประมูลต้นเดือนหน้า
แผนการก่อสร้างระบบจัดการน้ำ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน มีทั้งหมด 9 กลุ่มแผนงานแต่ละแผนงานมีเอกชนเข้ารอบเสนองานออกแบบและก่อสร้างแผนงานละ 3 กลุ่มบริษัท
คณะรัฐมนตรีจึงมอบหมายให้มีคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิจารณาคัดเลือกให้เหลือแผนงานละ 1 กลุ่มบริษัท เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี และประกาศผลอย่างเป็นทางการ
ขณะที่ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หรือ สบน. เตรียมเปิดให้สถาบันการเงินในประเทศทั้งหมดเข้ามาแข่งขันเสนออัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจสูงกว่าตลาด และทำสัญญาเงินกู้ ภายในเดือนมิถุนายน ตามเงื่อนไขของ พ.ร.ก. เพื่อจ่ายให้ผู้ชนะประมูลของแต่ละโครงการเป็นงวดๆ ตามความคืบหน้าและความพร้อมของงาน จากนั้นจะแปลงเป็นพันธบัตรต่อไป
แม้พ.ร.ก.ฉบับนี้ กำหนดวงเงินทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท แต่งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับงานประมูล ประมาณ 300,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ถึง วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556 มียอดการเบิกจ่ายจริง 4,000 ล้านบาท ล่าสุด มติคณะรัฐมนตรี วันที่ 9 เมษายน 2556 อนุมัติเงินภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ฟื้นฟู อนุรักษ์ป่า และระบบนิเวศน์ 25 ลุ่มน้ำ อีก 10,000 ล้านบาท ดังนั้น เหลือเงินอีกประมาณ 6,000 ล้านบาท ที่ยังรอการจัดสรร