ติดตามคดีสร้างโรงพักทดแทน
โครงการก่อสร้างโรงพักทดแทนในบางพื้นที่ได้ถูกปล่อยทิ้งร้าง มากว่า 2 ปีแล้ว แม้จะมีการต่ออายุระยะเวลาก่อสร้าง มาแล้วถึง 4 รอบ ส่วนหนึ่งมาจากความไม่พร้อมของบริษัทรับเหมา ที่ได้สัมปทานเพียงรายเดียวทั่วประเทศ และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ ซึ่งจากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่สำนักงานส่งกำลังบำรุง สำนักงานตำรวจแห่งชาติประเมินว่า ทั้งโครงการมีความคืบหน้าเพียงร้อยละ 12 เท่านั้น วันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา คือวันสิ้นสุดการต่อระยะเวลาและขณะนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างการจัดหาผู้รับเหมารายใหม่
ด้านที่ปรึกษาบริษัทพีซีซี ดีเวลลอปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานตั้งแต่แรก ออกมาเปิดเผยว่า เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ยอมต่อสัญญา บริษัทจะฟ้องในข้อหายกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรม
ด้านสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีคำสั่งให้ผู้บังคับการแต่ละจังหวัด ตั้งคณะกรรมการกำหนดราคากลาง และเตรียมประกวดราคาแล้ว โดยมีขั้นตอนราว 85 วัน และในระหว่างนี้ก็ดำเนินการยื่นของบประมาณใหม่จากคณะรัฐมนตรีเป็นเงิน 1,700 ล้านบาทด้วย
ส่วนการดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องกรมสอบสวนคดีพิเศษ ส่งสำนวนพร้อมหลักฐาน ดำเนินคดี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ขณะที่เป็นรองนายกฯ ซึ่งกำกับดูแล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ปปช. โดยกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรีสมัยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่กำหนดประมูลโรงพักแยกเป็นรายภาค แต่กลับเปลี่ยนเป็นการประมูลแบบรวมศูนย์สัญญาเดียว
ขณะที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ยื่น ป.ป.ช. ให้ตรวจสอบ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์,พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ในข้อหาละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมา เมื่อการก่อสร้างอาคารโรงพักทดแทนมีปัญหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลของ ป.ป.ช.
หากดูจากขั้นตอนในขณะนี้มีความเป็นไปได้ว่า โครงการก่อสร้างสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายในเดือนสิงหาคม