สมช. ชี้กลุ่มก่อความไม่สงบชายแดนใต้หวังร่วมถกเจรจาสันติภาพ
ช่วงปลายเดือน เม.ย.จะมี 2 เหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ วันที่ 28 เมษายนนี้ จะเป็นวันครบรอบเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ส่วนวันที่ 29 เมษายน จะเป็นวันนัดหมายการพูดคุยสันติภาพรอบที่ 3 ระหว่างตัวแทนหน่วยงานด้านความมั่นคง และกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ
แม้จะมีความพยายามมาก่อนหน้านี้ที่จะปฏิเสธความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเหตุร้ายรายวันในระยะนี้ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังมีอีกหลายเหตุการณ์ที่มีการทิ้งหลักฐานเพื่อเชื่อมโยงเหตุการณ์เข้าด้วยกัน
ป้ายผ้าที่เขียนข้อความด้วยภาษารูมี หรือ อักษรโรมันที่ใช้เขียนภาษามลายู และข้อความภาษาอาหรับ ที่มีความหมายถึงการต่อต้านการพูดคุยสันติภาพของสภาความมั่นคงแห่งชาติ กับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น รอบที่ 3 ในวันที่ 29 เมษายนนี้ ซึ่งถูกแขวนไว้บริเวณริมถนน ในเขตเทศบาลตำบลปะลุรู อำเภอสุไหงปาดี จังหวัดนราธิวาส พร้อมด้วยกล่องต้องสงสัย หลังได้รับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด ต้องใช้ปืนแรงดันน้ำยิงทำลายกล่องต้องสงสัยดังกล่าว แต่โชคดีที่บริเวณนี้กล่องต้องสงสัยดังกล่าวไม่มีระเบิดซุกซ่อนอยู่
ป้ายผ้าในลักษณะเดียวกัน ยังถูกติดกระจายอยู่ในหลายอำเภอมากถึง 45 จุด ในจังหวัดนราธิวาส และบางพื้นที่ยังพบว่า มีการวางระเบิดจริงด้วย เช่นที่บ้านบือราแง ตำบลโต๊ะเด็ง อำเภอสุไหงปาดี ซึ่งการลอบวางระเบิดในบริเวณนี้ ทำให้ร้อยโทไกรศักดิ์ รอดการทุกข์ ผู้บังคับกองร้อยทหารพราน 4801 กรมทหารพรานที่ 48 ได้รับบาดเจ็บ ขณะเข้าปลดป้ายด้วย
นอกจากนี้ การเข้าปลดป้ายและตรวจสอบวัตถุระเบิด ทำให้ชุดเก็บกู้วัตถุระเบิด หรืออีโอดี หน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส 32 นาวิกโยธิน กองทัพเรือ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบระเบิดน้ำหนัก 20 กิโลกรัม บรรจุในถังแก๊ส ที่กู้ได้จากที่ตำบลเจาะไอร้อง อำเภอเจาะไอร้อง บาดเจ็บ 8 นาย ในจำนวนนี้อาการสาหัส 6 นาย และเสียชีวิต 3 นาย เนื่องจากระหว่างการนำระเบิดที่พบมาตรวจสอบที่หน่วย ระเบิดเกิดทำงาน เบื้องต้น คาดว่า สาเหตุอาจเกิดจากการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด จนเกิดกระทบวงจรภายใน
ส่วนที่จังหวัดสงขลา พบป้ายข้อความ8 จุด ที่อำเภอเทพา และสะบ้าย้อย ทำให้แต่ละจุดเจ้าหน้าที่ต้องใช้ความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการเข้าตรวจสอบ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง จังหวัดสงลาเฝ้าระวังเหตุรุนแรงอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันเหตุรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นในวันครบรอบเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะในวันที่ 28 เมษายน และการพูดคุยสันติภาพรอบ 3 วันที่ 29 เมษายน
ด้านสภาความมั่นคงแห่งชาติ หรือ สมช. กล่าวว่า ข้อความต่อต้านการเจรจาสร้างสันติภาพ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการแสดงออกของผู้ที่เห็นต่าง และแสดงว่ากลุ่มที่ก่อเหตุ ประสงค์ที่จะพูดคุยกับไทยในวันที่ 29 เมษายนนี้ด้วย