ทางเลือกระบบขนส่งสาธารณะใน กทม.
ระบบขนส่งสาธารณะในกรุงเทพมหานครมีความหลากหลาย มีทางเลือกเพิ่มมากขึ้นทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ประจำทาง รถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ หรือแม้แต่จักรยานยนต์รับจ้าง ประวี วิชัยยุทธ ผู้โดยสารคนนี้ กล่าวว่า หากต้องเดินทาง ในกรุงเทพฯ จะศึกษาเส้นทางก่อน แล้วค่อยเลือกวิธีการเดินทาง และเงื่อนไขสำคัญของการเดินทาง คือเวลาที่คาดการณ์ได้
จำนวนรถโดยสารจดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก มีรถประจำทางกว่า 24,274 คัน ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นรถเมล์ รถตู้โดยสาร รถไม่ประจำทาง รถรับ-ส่งพนักงงาน กว่า 11,129 คัน และอีกทางเลือกของคนโดยสาร คือ รถแท็กซี่ มีมากกว่า 108,463 คัน
พรเพชร อาจผักปัง ผู้ประกอบการรถตู้โดยสาร กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน แม้ ขสมก.ซื้อรถเมล์ใหม่มาให้บริการ ก็มั่นใจว่าจำนวนผู้โดยสารจะไม่ลดลง
ปัจจุบัน มีประชาชนใช้บริการรถเมล์กว่า 1,700,000 คนต่อวัน ขสมก.ตั้งเป้าหมายว่ารถเมล์เอ็นจีวีรุ่นใหม่ จะทำให้มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 2,500,000 คนต่อวัน และมีแผนจะใช้ระบบตั๋วร่วมกับรถไฟฟ้า
การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีของ ขสมก. เพื่อให้มีรถรุ่นใหม่บริการประชาชน แม้เป็นหนึ่งในแผนฟื้นฟูองค์กร ลดปัญหาหนี้สินสะสมกว่า 60,000 ล้านบาท แต่อย่างหนึ่งที่ ขสมก.ต้องเปลี่ยนเเแปลงให้ได้ คือ การให้บริการที่ตรงต่อเวลา ผู้โดยสารสามารถกำหนดเวลาในการเดินทางได้ น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดให้ผู้โดยสารหันมาใช้บริการมากขึ้น เพราะการถึงที่หมายตามเวลาที่กำหนดไว้เป็นเงื่อนไขสำคัญของการเดินทางในกรุงเทพฯ