ย้อนรอย
ความในใจของเชลยศึก และครอบครัวผู้รอดชีวิตจากสงคราม ที่กลับมาบันทึกข้อความขอบคุณ บุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ คหบดีในจ.กาญจนบุรีที่เคยให้ความช่วยเหลือเมื่อครั้งถูกเกณฑ์มาเป็นแรงงาน สร้างทางรถไฟสายมรณะจากไทยสู่พม่า ตามเส้นทางยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในสงครามมหาเอเชียบูรพา สะท้อนอีกด้านของชีวิตเชลยสงครามที่ได้รับความช่วยเหลือจากบุญผ่อง ที่ยอมเสี่ยงชีวิต ลักลอบส่งยารักษาโรค อาหาร สิ่งของจำเป็นช่วยเชลยในค่าย
แม้สงครามจบไปแล้วเกือบ 70 ปี แต่เรื่องราวครั้งนั้นยังอยู่ในความทรงจำของผู้อยู่ในเหตุการณ์ ซึ่ง ลำใย สิริเวชชะพันธ์ ทายาทบุญผ่อง เล่าวว่า พอสงครามจบลง ญี่ปุ่นแพ้ เชลยก็มาที่บ้านเต็มไปหมดอยากมาดูว่า คนไหนคือคุณบุญผ่องที่ช่วยชีวิตเขาไว้
บูรณาการ จตุพรไพศาล ผู้จัดทำโครงการ 177 ปี ปากแพรก บอกว่า ถนนเก่าเล่าเรื่องเมืองกาญจน์ บางคนอาจไม่รู้เลยว่า ที่สะพานข้ามแม่น้ำแคว มีรูปร่างลักษณะนี้ตรงกลางเป็นสี่เหลี่ยม มาจากคุณบุญผ่อง ใส่ส่วนประกอบของวิทยุสื่อสารให้กับเชลย ให้เครื่องบินสัมพันธมิตรทิ้งระเบิดถูก ความช่วยเหลือของคนไทยเล็กๆ คนนี้นอกเหนือจากเสรีไทย ก็ทำให้ไทยไม่ต้องตกเป็นผู้แพ้สงคราม
จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่างสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่า ระหว่าง พ.ศ.2485-2488 มีราว 90,000 คน ซึ่งเป็นกรรมกรชาวเอเชียและเชลยศึกชาติพันธมิตร ซึ่งสุสานดอนรักก็เป็นสถานที่หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเสียสละใครครั้งนั้น และทุกปีจะมีงานรำลึกถึง เพื่อไม่ให้ลืมความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากสงคราม
25 เมษายนของทุกปี คือวัน ANZAC DAY หรือวันที่ระลึกทหารผ่านศึกของกองทัพออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ กำหนดเพื่อรำลึกถึงทหารที่จากไปในสงคราม คำอาลัยบนป้ายชื่อทหารเกือบ 7,000 หลุม จารึกเกียรติยศของกองกำลังสหประชาชาติ ที่มาสังเวยชีวิตบนเส้นทางสายมรณะ ไม่เพียงยกย่องความกล้าหาญ และเสียสละ ยังเตือนใจให้เห็นผลของสงครามที่แท้จริงแล้วไม่มีผู้ชนะ
ผศ.วรวุธ สุวรรณฤทธิ์ ผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์สงครามมหาเอเชียบูรพา เล่าว่า คนมาตายเพราะสร้างทางรถไฟเขาบอกว่าหนึ่งไม้หมอนเท่ากับหนึ่งชีวิตเชลยศึก ซึ่งมาคิดๆ ดูก็เป็นเรื่องจริง เพราะทหารต้องทำงานหนักวันละ 12-18 ชม.ไม่ได้พัก ยารักษาโรคไม่มี ไม่มีใครได้มีแต่เสีย
เส้นทางรถไฟสายมรณะใช้งานได้เพียง 21 เดือน ก็ถูกทำลายด้วยระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร ภายหลังสงคราม ทางรถไฟสายนี้ใช้เพื่อขนส่งและท่องเที่ยว ภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นำมาย้อนเล่าใหม่ในละครเรื่องบุญผ่อง ออกอากาศทางไทยพีบีเอส 8 พฤษภาคมนี้