ผู้ต้องสงสัยเหตุระเบิดบอสตัน มาราธอนมีแผนโจมตีย่านไทม์สแควร์
นายไมเคิล บลูมเบิร์ก นายกเทศมนตรีนครนิวยอร์ค แถลงว่า ได้รับแจ้งจากหน่วยสืบสอบสอบสวนกลางหรือเอฟบีไอว่า นายโซการ์ ซานาเยฟ ผู้ต้องสงสัย วัย 19 ปี คดีระเบิดบอสตัน มาราธอน ที่รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลในรัฐแมสซาชูเซท ให้ข้อมูลว่า เขาและพี่ชาย ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยที่เสียชีวิตมีแผนจะโจมตีย่านไทม์สแควร์ในนครนิวยอร์ค เป็นเป้าหมายต่อจากเมืองบอสตัน โดยวางแผนจะขับรถไปนครนิวยอร์คในคืนวันที่ก่อเหตุระเบิด เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2556 จึงไปจี้ชิงรถยนต์และจะนำระเบิดติดตัวไปด้วย 6 ลูก ซึ่งจะใช้หม้ออัดแรงดันเป็นตัวจุดชนวนเหมือนเหตุระเบิดที่บอสตัน แต่แผนไม่สำเร็จ เพราะตอนที่จี้ชิงรถยนต์ปรากฎว่าน้ำมันใกล้หมด 2 พี่น้องจึงให้เจ้าของรถขับไปเติมน้ำมัน เจ้าของรถจึงฉวยโอกาสหลบหนีออกมาและโทรแจ้งตำรวจ ทำให้ตำรวจออกไล่ล่า 2 พี่น้องถึงขั้นปิดเมืองบอสตันนานเกือบ 24 ชั่วโมงกว่าจะจับกุมนายซานาเยฟได้สำเร็จ ซึ่งเขาถูกตั้งข้อหาใช้อาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรง และอาจได้รับโทษสูงสุดคือประหารชีวิต ซึ่งแผนการทั้งหมดนี้ 2 พี่น้องวางแผนทำกันเอง ทั้งนี้ทางเอฟบีไอไม่พบหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ
ก่อนหน้านี้ย่านไทม์สแควร์ในนครนิวยอร์คเคยตกเป็นเป้าหมายการโจมตีมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดเหตุเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2551 โดยคนร้ายนำจักรยานที่มีระเบิดไปจอดทิ้งไว้หน้าสำนักรับสมัครกำลังพล แต่เนื่องจากเป็นระเบิดขนาดเล็กและเหตุเกิดในช่วงกลางดึกจึงไม่มีความเสียหายรุนแรงและไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่คดีนี้ตำรวจไม่สามารถจับกุมคนร้ายได้ อีก 2 ปีต่อมา เกิดเหตุอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคมปี 2553 โดยคนร้ายซึ่งเป็นชายเชื้อสายปากีสถานได้นำรถบรรทุกระเบิดไปจอดไว้ริมถนน แต่คนขายของที่อยู่ข้างทางสังเกตเห็นควันลอยออกมาจากรถยนต์เลยแจ้งเจ้าหน้าที่ ทำให้การระเบิดไม่สำเร็จ ต่อมาตำรวจจับผู้ก่อเหตุได้
ด้านนางซูเบียดัท ซานาเยฟ แม่ของผู้ต้องสงสัยทั้ง 2 คนแถลงข่าวที่แคว้นดาเกสถานในรัสเซียยืนยันว่าลูกชายทั้ง 2 คน ไม่ได้ทำอย่างที่ถูกกล่าวหา พร้อมตำหนิเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯที่สังหารลูกชายของเธอ และบอกว่าเสียใจที่ส่งลูกชายไปอยู่สหรัฐฯตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งในสัปดาห์นี้ ทั้งพ่อและแม่ของผู้ต้องสงสัยจะให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯที่จะเดินทางไปที่รัสเซีย
ส่วนนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซียได้กล่าวระหว่างการให้สัมภาษณ์ทางโทรทัศน์ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองบอสตันของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นว่าทั้งสองประเทศจะต้องร่วมมือกันเพื่อหยุดยั้งการก่อการร้าย มีรายงานเพิ่มเติมว่าทางการรัสเซียเคยให้ข้อมูลของนายทาเมอร์ลัน หนึ่งในผู้ต้องสงสัยในเหตุระเบิดบอสตัน ให้เอฟบีไอของสหรัฐฯ ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2554 โดยสงสัยว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มหัวรุนแรง ในตอนนั้นทางเอฟบีไอได้ตรวจสอบนายทาเมอร์ลันแล้ว แต่ไม่พบหลักฐานใดๆ ชื่อของนายทาเมอร์ลันเลยไม่ได้อยู่ในบัญชีของผู้ก่อการร้าย