กทม.ยึดห้องสมุดทีเค พาร์ค เป็นแบบอย่างพัฒนาห้องสมุดของกทม.
ห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ ห้วยขวาง ได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัย สวยงาม มีพื้นที่จัดกิจกรรมการเรียนรู้เป็นสัดส่วน และคัดสรรหนังสือใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมจากเดิม ด้าน น.ส.พรพิมพ์ แซ่ลิ้ม ผู้ใช้บริการห้องสมุด มีความเห็นว่า หนังสือยังมีไม่หลากหลาย ไม่ตรงกับความต้องการของคนอ่าน ขณะที่การประชาสัมพันธ์ ให้มาใช้บริการห้องสมุดแห่งนี้ก็ยังไม่ทั่วถึง
ปัจจุบัน มีห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกรุงเทพมหานคร กระจายตามพื้นที่ต่างๆ ทั้งหมด 34 แห่ง ซึ่ง 2 ปีที่ผ่านมา กทม. พยายาม เริ่มปรับปรุงห้องสมุดแล้ว 14 แห่ง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายมหานครแห่งการอ่าน โดยใช้งบประมาณทั้งหมด 10 ล้านบาท
สำหรับสถิติการเข้าใช้บริการห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ของกทมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 - เดือนมีนาคม 2556 เฉลี่ยมีผู้เข้าใช้บริการแต่ละแห่งประมาณ 35,000 คน ซึ่งหากเทียบกับห้องสมุดที่ทันสมัย ตั้งอยู่ใจกลางเมือง อย่าง ทีเค ปาร์ค อุทยานการเรียนรู้ ที่เปิดให้บริการมาแล้ว 8 ปี มีผู้ใช้บริการเฉลี่ยกว่า 300,000 ครั้งต่อคนต่อปี
จุดเด่นที่ทำให้ ทีเค พาร์ค ได้รับความสนใจและมีผู้ใช้บริการมาก เนื่องจากทำให้ห้องสมุดมีชีวิต ลบภาพลักษณ์ห้องสมุดแบบเดิมๆ ประกอบกับคัดสรรหนังสือและสื่อการเรียนรู้อย่างครบครัน รองรับบริการมากกว่า 120,000 รายการ เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมการเรียนรู้ใหม่ๆ สำหรับทุกกลุ่มเป้าหมาย
การพัฒนาห้องสมุดชุมชน นอกจากจะต้องสรรหาหนังสือ รวมถึงสื่อการเรียนรู้แบบใหม่ๆให้ถูกใจกับรสนิยมของผู้อ่านในแต่ละช่วงวัยแล้ว ด้าน น.ส.สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. มองว่า การสร้างวัฒนธรรมรักการอ่านอย่างยั่งยืน ต้องมีกิจกรรมกระตุ้นการอ่าน มีสื่อเพื่อสนองการอ่านที่สะดวก และระบบการจัดการที่ดีด้วย
ความสำเร็จของระบบการจัดการห้องสมุดของทีเค พาร์ค ซึ่งตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการทุกเพศทุกวัย เป็นแบบอย่างที่กทม. เตรียมต่อยอดนำมาพัฒนาห้องสมุดการเรียนรู้ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หวังสร้างห้องสมุดที่มีคุณภาพ และเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนเมือง