ออร์แกนแห่งตำนานวิหารนอเธอร์ดาม
เสียงออร์แกนกังวานทั่วมหาวิหารนอเธอร์ดามแห่งปารีส ขับกล่อมให้บรรยากาศบริเวณรอบโบสถ์ดูมีมนต์ขลัง แม้จะไม่เห็นตัวผู้บรรเลง ซึ่งนั่งอยู่ไกลจากสายตาของผู้คนด้านล่าง แต่สิ่งที่ทำให้ ฟิลลิป เลอเฟว์บ นักออร์แกนแห่งนอเธอร์ดามสามารถสื่อสารกับผู้ฟังได้ มาจากการเปล่งเสียงส่งผ่านท่อเสียงของออร์แกนแห่งเกือบ 8,000 ตัว เป็นการแสดงครั้งแรกหลังจากออร์แกนซึ่งเป็นตำนานแห่งวิหารนอเธอร์ดาม หลังได้รับการบูรณะในรอบ 30 ปี โดยบรรเลงในวาระครบรอบ 850 ปีการก่อสร้างวิหาร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของศิลปะกอทิกแบบฝรั่งเศส
ฟิลลิป เลอเฟว์บ ผูกพันกับออร์แกนแห่งนอเธอร์ดาม ตั้งแต่แรกเห็น เมื่อมีอายุเพียง15 ปี และได้ศึกษาวิธีการบรรเลงออร์แกนอย่างจริงจัง จนกลายเป็นนักเล่นออร์แกนที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลก แม้วันนี้ออร์แกนแห่งนอเธอร์ดามจะปรับเปลี่ยนจากที่เคยใช้ชายถึง 6 คนช่วยกันปั๊มลมให้เกิดเสียง เปลี่ยนมาเป็นใช้เครื่องอัดความดันลม และมีการติดตั้งหน้าจอสัมผัสเพื่อบันทึกโน้ตของแต่ละเพลง แต่สำหรับเลอเฟว์บ เครื่องดนตรีเก่านี้เต็มไปด้วยร่องรอยจากอดีต ทั้งรอยฟันตรงเครื่องหมายดอกลิลลี่ สัญลักษณ์ราชวงศ์ฝรั่งเศสโดยฝีมือของนักปฎิวัติในศตวรรษที่ 18 ซึ่งออร์แกนนี้รอดพ้นจากการถูกนำไปหลอมเป็นกระสุนปืน เมื่อนักดนตรีของวิหารยุคนั้น เลือกเป็นแนวร่วมกับฝ่ายปฎิวัติด้วยการใช้ออร์แกนบรรเลงเพลงปลุกใจฝ่ายล้มล้างราชวงศ์บูร์บอง
เลอเฟว์บ กล่าวถึงทความพิเศษของออร์แกนว่า แตกต่างจากเปียโนที่เป็นเครื่องดนตรีในยุคอุตสาหกรรมที่ผลิตออกมาคล้ายคลึงกันหมด แต่ออร์แกนกลับออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับตัวอาคารที่ใช้แสดง ออร์แกนแต่ละหลังจึงมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งการออกแบบทางอคูสติกของนอเธอร์ดามทำให้เสียงสะท้อนของตัวโน้ตยาวนานถึง 9 วินาที ซึ่งผู้เล่นอย่างเขาสามารถรับรู้ความยิ่งใหญ่ของเสียงที่สะท้อนกลับมาได้อย่างเต็มเปี่ยม
ออร์แกนของประจำมหาวิหารนอเธอร์ดามสร้างเสร็จสมบูรณ์ในศตวรรษที่ 18 โดยนักออร์แกนของวิหารแห่งนี้ถือเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ทรงเกียรติที่สุดในฝรั่งเศส ปัจจุบันมีนักออร์แกนประจำวิหาร 3 คน ผลัดกันบรรเลงคนละ 4 เดือน สำหรับการแสดงในช่วงสุดสัปดาห์หรือพิธีสำคัญๆในแต่ละช่วงของปี