ค้านนโยบายยุบร.ร.ขนาดเล็ก เหมือนทอดทิ้งชุมชน เสนอจัดตั้ง
ใช้เครือข่ายอุดมศึกษาท้องถิ่นหมุนเวียนมาสอน ฝึกจิตสำนึกสาธารณะได้อีกทาง
ดร.นิวัตร มูลปา อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา กล่าวถึงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ที่ให้ยุบโรงเรียนขนาดเล็กลงว่า เห็นข่าวเรื่องยุบโรงเรียนขนาดเล็กตกใจกับสังคมไทยที่มองอะไรมีแต่ปัญหา แต่ไม่ค่อยเสนอทางออกให้กับสังคม และมองอะไรเป็นประเด็นทางการเมืองไปหมด ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกร เป็นอาจารย์สอนช่างเทคนิคและวิศวกร จึงขอมองต่างมุม ที่รัฐมนตรีเสนอยุบโรงเรียนที่มีนักเรียนน้อย ซึ่งอาจจะเกิดจากประชากรมีอัตราการเกิดต่ำ นักเรียนย้ายที่เรียนไปเรียนโรงเรียนที่มีีชื่อเสียง ทำให้ปัญหาที่พบในโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีเด็กเรียน ตนเข้าใจว่ากระทรวงคงมองหลายมุม เช่น ต้นทุนการผลิตนักเรียนสูง เนื่องจากต้องใช้ครูต่อนักเรียนในอัตราส่วนที่ต่ำ แต่เมื่อลดจำนวนครูหรือไม่เพิ่มจำนวนครูให้เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา
"ผมเห็นว่าเราไม่ยุบโรงเรียนได้ไหม แต่ควรแปรสภาพโรงเรียนให้เป็นศูนย์เรียนรู้ชุมชน และให้ครูที่เหลือเป็นนักจัดการที่ใช้การแลกเปลี่ยนทรัพยากรจากหลากหลายเข้ามาร่วมกันผลิตเยาวชนของชาติ โดยใช้ลักษณะของ Home school แทน ซึ่งก็ได้ระบุไว้ใน พรบ.การศึกษาของชาติแล้ว แต่ก็ขาดการนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากครูยังยึดติดการสอนในรูปแบบ ขาดนวัตกรรมการสอน ขาดการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ขาดจิตวิญญาณความเป็นครู ซึ่งจะแก้ปัญหาของสังคมไทยได้ที่ชอบตั้งองค์กรแต่ไม่เคยทำงานตามพันธกิจให้บรรลุทั้งในแต่การระบบคุณภาพและการควบคุมคุณภาพ"
ดร.นิวัตร กล่าวว่า ให้นักเรียนต้องไปเรียนที่อื่น ทำให้ห่างจากครอบครัว สังคม ชุมชน ซึ่งความจริงแล้วอยากชี้ให้เห็นว่าครูที่ดีที่สุดคือพ่อแม่ พระ ปราชญ์ชาวบ้าน ศิษย์เก่า และนักศึกษาที่กำลังมีไฟ สถาบันการศึกษาจึงควรฝึกให้เขามีจิตสาธารณะ ซึ่งก็ควรให้ศูนย์การเรียนรู้นั้นเป็นเครือข่ายของสถาบันอุดมศึกษาในท้องถิ่น แล้วใช้อาจารย์ นักศึกษา ผ่านโครงการอาสาต่างๆ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้นั้นๆ จะได้ครูที่มีสมองระดับหัวกระทิของชาติ เช่น ได้นักศึกษา แพทย์ วิศวกร นักวิทยาศาสตร์ นักเกษตร นักกฎหมาย นักบัญชี นักธุรกิจ ฯลฯ ซึ่งเป็นชนชั้นหัวกระทิของประเทศไปเป็นครูชนบทโดยไม่รู้ตัว ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้ไม่สามารถไปเป็นครูของ สพฐ ได้ เนื่องจากติดกฏหมายครูทีต้องผ่านวิชาครู แต่โรงเรียนกวดวิชาที่ครูไม่มีใบประกอบวิชาชีพครูได้รับความสนใจมากกว่า นี่ก็เป็นสิ่งพิสูจน์ได้ว่าควรส่งเสริมให้นักศึกษากลุ่มนี้ไปเจอนักเรียนตามชุมชนดีไหม นอกจากนี้นักเรียนระบบ Home school ของศูนย์การเรียนรู้ยังได้เจอพระ ปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งเป็นคนในท้องถิ่นที่เข้าใจท้องถิ่นมาให้ความรู้นอกตำราที่มีค่าแทบจะหาอะไรเปรียบไม่ได้
ดร.นิวัตร กล่าวอีกว่า สรุปข้อเสนอของตน คือการใช้ทรัพยากรในสังคมที่มีค่าไปให้สังคมที่ขาดโอกาสผ่านศูนย์การเรียนรู้นั้น และจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ กระทรวงศึกษาควรจะหันการเปลี่ยนเงินเดือนครูในระบบมาเป็นเงินโครงการอาสา โดยให้นักศึกษาที่มีจิตสาธารณะมาช่วยสังคม และให้ครูที่เหลืออยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กที่แปรสภาพเป็นศูนย์การเรียนรู้มาเป็นผู้สนับสนุน (Felicitator) และเป็นนักบริหารโครงการ เป็นนักประสานงาน ครับ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่ผมขอเสนอเป็นหลักการเบื้องต้นครับ เนื่องจากรายละเอียดการทำงานจะต้องมีอีกมาก และต้องระดมสมองกันอีกเยอะ ข้อดีของแนวคิดนี้อีกเรื่องหนึ่งก็จะสามารถเปลี่ยนโรงเรียนที่ทำตัวเป็นนายหรือเป็นราชการชั้นผู้ใหญ่ในสังคมมาเป็นผู้รับใช้สังคม แสดงบทบาทเป็นคนกลางเชื่อมองค์กรในสังคมให้กลับมาเหมือนภูมิปัญญาในอดีตที่ให้ บ้าน วัด โรงเรียน ขับเคลื่อนชุมชน (บ.ว.ร.) เป็นผู้นำสังคมให้กลับไปหาจุดแข็งเดิม ใช้ปัญญานำพาสังคม มาแทนการเมืองนำสังคมและชุมชนในปัจจุบัน