บอร์ด สปสช. ตั้ง
อนุกรรมการธรรมาภิบาล ภายใต้บอร์ด สปสช.จัดทำแผนยุทธศาสตร์ 5 ปีตั้งเป้าบริหารระบบหลักประกันสุขภาพมีธรรมาภิบาล ยึดแนวทางหลักธรรมาภิบาล 10 ด้านของ กพร. เช่น โปร่งใส เสมอภาค นิติธรรม มีส่วนร่วม กระจายอำนาจ มุ่งเน้นฉันทมติ
ศาสตราจารย์สุนีย์ มัลลิกะมาลย์ ประธานคณะอนุกรรมการธรรมาภิบาล ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ ธรรมาภิบาล ให้ทำหน้าที่พัฒนามาตรฐานการดำเนินงานด้านธรรมาภิบาลของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกำกับดูแลให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล คณะอนุกรรมการธรรมาภิบาลได้มีการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 5 ปี (2555-2559)
โดยตั้งเป้าหมายว่าให้มีการใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่เป็นแบบอย่างและได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชนรวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง ยึดหลักธรรมาภิบาล 10 ด้านของคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) คือ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วม ความโปร่งใส การตอบสนอง สำนึกรับผิดชอบ นิติธรรม การกระจายอำนาจ ความเสมอภาค และการมุ่งเน้นฉันทมติ
ประธานคณะอนุกรรมการธรรมาภิบาล กล่าวต่อว่า ยุทธศาสตร์การดำเนินงาน 4 ข้อ คือ 1.กำหนดประมวลจริยธรรมและติดตามให้เกิดผลในทางปฏิบัติ 2.สร้างและพัฒนาเกณฑ์ชี้วัด ระบบการตรวจสอบ กำกับติดตาม และประเมินผลจากหลักธรรมาภิบาล เพื่ออภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพให้มีความยั่งยืน 3.ส่งเสริมให้มีการสร้างจิตสำนึกและคุณค่าด้านธรรมาภิบาลแก่ผู้เกี่ยวข้องและนำไปปฏิบัติ 4.จรรโลงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้ยั่งยืนด้วยหลักธรรมาภิบาล เช่น การยกย่องบุคคลและหน่วยงานดีเด่นในด้านจริยธรรมและธรรมาภิบาล การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารอย่างโปร่งใส
ศ.สุนีย์ กล่าวว่า การดำเนินงานระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีผู้มีส่วนได้เสียจำนวนมาก ตั้งแต่ข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ผู้กำหนดนโยบาย กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลทั่วประเทศ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข สถานีอนามัย สปสช. และบอร์ดสปสช.ที่มีความสำคัญต่อการดำเนินงาน การมีระบบธรรมาภิบาลที่ดีจะทำให้การบริหารงานหลักประกันสุขภาพเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ได้รับความเชื่อมั่นจากประชาชน ยึดถือประโยชน์ของประชาชนสูงสุด และปลอดจากการแทรกแซงของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ของการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทุกคนอย่างเสมอภาคกัน