ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิจัยแนะเข้าใจเชื้อโรค กินอาหารร้อนๆ ลดภาวะเสี่ยงติดเชื้อในฤดูร้อนจัด

สังคม
16 พ.ค. 56
10:42
281
Logo Thai PBS
นักวิจัยแนะเข้าใจเชื้อโรค กินอาหารร้อนๆ ลดภาวะเสี่ยงติดเชื้อในฤดูร้อนจัด

สภาพอากาศที่ร้อนจัด หลายคนมักหลีกเลี่ยงอาหารจานร้อน เพราะเกรงว่าจะยิ่งไปเพิ่มอุณหภูมิให้กับร่างกาย โดยเฉพาะหนุ่มสาววัยเรียนและวัยทำงานที่จำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกบ้าน ยิ่งเป็นพวกก๋วยเตี๋ยวร้อนๆ แล้วละก็ร้อนๆ อย่างนี้อาจจะเป็นทางเลือกท้าย ๆ เลยทีเดียว

 แต่ถ้าคุณหันไปเลือกอาหารประเภท ไก่ย่าง ส้มตำ ข้าวราดแกง อาหารจานด่วน อย่างข้าวมันไก่ ข้าวหมูแดง หมูกรอบ ข้าวขาหมู หรืออาหารที่ไม่ได้ปรุงให้สุกร้อนทันทีก่อนทาน อาจจะต้องหยุดคิดสักนิดก่อนตัดสินใจ เพราะในฤดูร้อนเช่นนี้อาหารที่แม้จะปรุงสุกแต่ก็วางขายไว้เป็นเวลานาน อาจเป็นอาหารที่มีเชื้อโรคปนอยู่และเจริญเพิ่มจำนวนจนเป็นอันตรายกับเราก็เป็นได้

 
รศ.ประเวทย์ ตุ้ยเต็มวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ความปลอดภัยอาหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ให้ความรู้พื้นฐานง่ายๆ ที่เราอาจละเลยกันไปแล้วเกี่ยวกับแหล่งเชื้อโรคในอาหารว่า มีอยู่ 4 หลักใหญ่ใจความคือ ต้องเข้าใจเรื่อง มีอยู่ เหลือรอด ปนเปื้อน และเจริญ ของเชื้อโรค กล่าวคือแม้ว่าเชื้อโรคจำพวกแบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่ทนร้อนมากนักแต่กลับกลายเป็นว่าเชื่อเหล่านี้สามารถแพร่ระบาดได้จำนวนมากในฤดูร้อนเช่นนี้ เป็นเพราะว่าเชื้อแบคทีเรียในอาหารบางประเภทนั้น “มีอยู่” แล้ว เช่น เนื้อสัตว์หรือผักต่างๆ ที่ซื้อมาจากตลาด ในถุงพลาสติกที่ใส่ไก่มา ก็อาจจะมีเชื้อโรคปะปนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการผลิต การขนส่ง ก็ตามดังนั้นการนำอาหารจึงต้องปรุงให้สุก 
 
อย่างไรก็ตามแม้เราจะปรุงอาหารจนสุกแต่ก็ยังมีจุลินทรีย์บางชนิดที่ทนร้อนและ “เหลือรอด” อย่างจำพวกเชื้อและสปอร์ของ บาซิลัส ซับทีลิส (Bacillus subtilis) ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในอาหารกระป๋องและข้าวสวย รวมทั้งเชื้อคลอสตริเดียม โบทูลินัม (Clostridium botulinum) ที่เหลือรอดในหน่อไม้ปีบ ซึ่งการปรุงอาหารแบบทั่วๆ ไป (ไม่เกิน 100 องศา) ไม่สามารถทำลายสปอร์ของเชื้อได้ เชื้อโรคเหล่านี้อาจเจริญและสร้างสารพิษจนเป็นอันตรายต่อคนได้ภายหลัง สารพิษของเชื้อบางชนิดเช่น บาซิลัส และ สแตฟิโลคอคคัส ทนต่อความร้อนที่ปรุงอาหาร ดังนั้นจึงต้องระมัดระวังต่อไปว่าเชื้อดังกล่าวจะ “เจริญ” เพิ่มจำนวนและสร้างสารพิษเหล่านี้ได้ หากเราวางอาหารทิ้งไว้นานๆ หรือทำให้อาหารเย็นลงอย่างช้าๆ เชื้อก็เจริญจนมีจำนวนมากขึ้นได้
 
“อย่างข้าวผัดที่คนอเมริกันมักจะผัดไว้ขายกระทะใหญ่ๆ หรืออาหารที่วางขายตั้งแต่เช้า ตอนที่เราปรุงเชื้ออื่นๆ อาจจะตายหมดเหลือรอดก็แต่พวกคลอสตริเดียม โบทูลินัม กับ บาซิลัส ซับทีลิส จะเหลือรอด เพราะมันมีสปอร์ ที่มีเปลือกหุ้มแข็งเหมือนเม็ดถั่วเขียว ป้องกันความร้อนได้ดี  การฆ่าเชื้อเหล่านี้ต้องใช้ความร้อนสูงมากกว่า 121 องศาอย่างน้อย 15 นาที ซึ่งคือวิธีการนึ่งฆ่าเชื้ออาหารกระป๋องหรือที่ใช้ฆ๋าเชื้อในโรงพยาบาลจึงจะทำลายสปอร์ได้ การผัดข้าวทำให้สปอขอเชื้อที่ทนร้อนเหล่านี้อ่อนนุ่มลงเท่านั้น เมื่ออยู่ในสภาพอากาศที่เหมาะสมคือในช่วง 5-60 องศา ซึ่งเราเรียกอุณหภูมิช่วงนี้ว่าช่วงอันตราย หรือ “denger zone” ทำให้เชื้อเหล่านี้ขยายตัวและถ่ายของเสียออกมาได้เร็วเป็นทวีคูณ ซึ่งอุณหภูมิช่วง “denger” นี้เองมันค่อนข้างประจวบเหมาะกับอุณหภูมิบ้านเรา หากนำอาหารที่อยู่ในช่วง “denger” นานๆ เช่น เกินกว่า 2-4 ชั่วโมง มารับประทานก็อาจจะอันตรายต่อมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อกลุ่มเสี่ยงเช่น เด็กเล็กและผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ทานยาต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน หรือผู้มีร่างกายอ่อนแอก็อาจจะแสดงอาการได้มากกว่าคนที่มีสุขภาพแข็งแรง”
 
นอกจากการเข้าใจถึงการมีอยู่ เหลือรอด และการเจริญแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการ “ปนเปื้อน” ซึ่งบางครั้งแม้ว่าจะมีการปรุงอาหารที่สุกสะอาดปลอดภัยจากเชื้อโรคหากแต่ไม่ระวังเรื่องการรักษาความสะอาดภาชนะใส่อาหาร ช้อน หรือแม้แต่มือก็อาจทำให้อาหารได้รับการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ วิธีหนึ่งที่จะลดการปนเปื้อนได้คือการรักษาความสะอาดของบ้านไม่ให้มีเศษอาหารหรือเศษขยะตกหล่นในบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของพวกแมลง มด จิ้งจก พาหะนำโรคมาสู่จานชามและอาหาร ควรล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบอาหารเข้าปาก    หรือหากจำเป็นต้องรับประทานอาหารนอกบ้านก็ต้องสังเกตผู้ประกอบอาหารว่าสวมเสื้อผ้ามิดชิดมีหมวกคลุมผม ซึ่งการแต่งกายมิดชิดอย่างน้อยก็บ่งบอกได้ถึงความพิถีพิถันใสใจในการประกอบอาหารได้บ้างแม้ว่าจะไม่ได้พิสูจน์ได้ว่าอาหารเหล่านั้นจะได้รับการปนเปื้อนหรือไม่ก็ตาม
 
“ที่สำคัญพ่อค้าแม่ค้าที่สัมผัสอาหารแม้ว่าจะใส่ถุงมือแต่บางร้านก็ใช้มือที่สวมถุงมือนั่นแหล่ะรับเงินและทอนเงินให้เราซึ่งนั่นไม่ได้ช่วยป้องกันอะไร และถือว่าอันตรายมาก นอกจากนี้ เขียงที่ใช้หั่นอาหารจะต้องอยู่ในสภาพดี ไม่แตกเป็นร่องเพราะนั่นเป็นแหล่งรวมของเศษอาหาร ของโปรดของแมลงอีกด้วย ทำให้สัตว์แมลง เช่นแมลงสาบซึ่งปกติเดินตามพื้น ท้องร่อง บ่อเกรอะสัวม มาเดินบนเขียง จานใส่อาหาร ทำให้ปนเปื้อนได้”
 
รู้อย่างนี้แล้วถ้าวันไหนจำเป็นต้องรับประอาหารนอกบ้าน ก็ให้สังเกตสิ่งเหล่านี้ดู หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ทานอาหารร้อนๆ ไว้ก่อนอย่าง “ก๋วยเตี๋ยว” แม้ว่าจะอากาศร้อนแค่ไหนบางครั้งก็ต้องยอม แต่อย่าลืมเปิดดูเครื่องปรุงโดยเฉพาะพริกแห้งถ้าแฉะๆ รศ.ดร.ประเวทย์ บอกว่า ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องปรุงเป็นดีที่สุดแถมสุขภาพดีด้วย อาหารเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่การเลือกทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง