ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“นพ.อดิศักดิ์”ระบุการติดเซนเซอร์ในรถโรงเรียนอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาลืมเด็กไว้ในรถ

สังคม
17 พ.ค. 56
04:56
157
Logo Thai PBS
“นพ.อดิศักดิ์”ระบุการติดเซนเซอร์ในรถโรงเรียนอาจไม่ใช่ทางออกของปัญหาลืมเด็กไว้ในรถ

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ระบุว่า แนวทางการติดเซ็นเซอร์ในรถโรงเรียน อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอันตรายที่เกิดจากการลืมเด็กไว้ในรถ จนเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตมาแล้วถึง 2 ครั้ง โดยเห็นว่า ครูหรือผู้ให้บริการรถรับส่งต้องมีความละเอียดรอบคอบมากกว่าที่เป็นอยู่

ตำรวจภูธรอุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ใช้เวลาสอบสวน น.ส.อัมพิกา เพชรนาม ครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนอุทุมพรวิทยา และผู้ขับรถยนต์รับส่งนักเรียนที่ลืม ด.ช.สุริยาการ หรือ น้องพอตเตอร์ ทาจันทร์ เอาไว้ในรถจนเสียชีวิต ยาวนานถึง 5 ชั่วโมง ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหา กระทำการโดยประมาท ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย และหลังจากนั้นศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์ในการหลบหนี

มีรายงานว่า หลังได้รับการประกันตัว น.ส.อัมพิกา ได้เดินทางไปร่วมงานสวดอภิธรรมศพน้องพอร์ตเตอร์ พร้อมนำพานดอกไม้เข้าขอขมา พ่อ แม่ และญาติของน้องพอร์ตเตอร์ด้วย โดยได้กล่าวขอโทษ พร้อมยอมรับผิดและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ด้าน รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก กล่าวว่า ที่ผ่านมามีเด็กเสียชีวิตจากการติดอยู่ภายในรถยนต์แล้วถึง 3 ราย ในปีนี้ ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตไม่ใช่เพราะการขาดอากาศหายใจ แต่เป็นเพราะอุณหภูมิภายในรถสูงมาก จนเกินกว่าเด็กจะปรับตัวเพื่อกำจัดความร้อนในร่างกายได้ ส่งผลให้เซลล์ตาย เม็ดเลือดแตก เลือดเป็นกรด เกิดภาวะสมองบวมจนกดทับศูนย์ควบคุมการหายใจ ทำให้หยุดหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด

และจากการทดลองนำรถตู้มาจอดไว้อยู่กลางแจ้งเพื่อเปรียบเทียบอุณหภูมิ พบว่า อุณหภูมิภายในรถเพิ่มขึ้นจาก 26 องศาเซลเซียส เป็น 42.9 องศาเซลเซียส ภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งอุณหภูมิในระดับนี้เด็กจะเสียชีวิตทันที หากติดอยู่ในรถนานเกินกว่า 2 ชั่วโมง

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ยังระบุด้วยว่า หากพบเด็กติดอยู่ภายในรถให้รีบนำตัวเด็กออกมาปฐมพยาบาลทันที หากเด็กหยุดหายใจต้องรีบปั๊มหัวใจให้เด็กก่อน หากยังคงหายใจอยู่ให้รีบปลดเสื้อผ้า และเช็ดตัวคลายความร้อนให้แก่เด็ก เบื้องต้นอยากเสนอกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น โดยโรงเรียนต้องฝึกอบรมคนขับรถ และครูประจำรถ ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กขณะที่อยู่ในรถเป็นสำคัญ ต้องตรวจนับจำนวนเด็กขึ้น-ลงให้ถี่ถ้วน มีครูผู้ช่วยดูแลเด็กในรถเสมอ เมื่อเสร็จภาระก่อนล็อกประตู ต้องดูให้ทั่วรถ ทำเป็นแบบแผนปฏิบัติงานจนเป็นนิสัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก

ส่วนการที่จะกำชับไปยังสถานศึกษาให้สอนวิธีการช่วยเหลือตนเองให้แก่เด็กหากติดอยู่ในรถ เช่น บีบแตร เป็นสิ่งที่ดี แต่โดยหลักการเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องถือว่าเด็กยังทำไม่ได้ แม้เด็กอาจจะทำได้ก็อาจทำในเวลาไม่เหมาะสม

ส่วนกรณีที่ มีข้อเสนอให้แก้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน พ.ศ.2536 ให้รถโรงเรียนทุกคันติดเซ็นเซอร์นั้น รศ.นพ.อดิศักดิ์ กล่าวว่า แม้จะมีการติดเซ็นเซอร์ภายในรถโรงเรียนแต่ก็คงไม่ปลอดภัยเท่ากับการให้ผู้มีหน้าที่ดูแลเด็กตรวจสอบว่าเด็กลงจากรถครบหมดแล้วหรือยัง เพราะหากจะแก้ปัญหาด้วยการติดเซ็นเซอร์เพียงอย่างเดียวนั้น ไม่ใช่ยุทธศาสตร์หลักในการแก้ปัญหา


ข่าวที่เกี่ยวข้อง