การส่งเสริมการศึกษา เพื่อความเข้าใจในชาติพันธุ์
เยาวชน 4 เผ่า บทเพลงที่ผสานด้วยเสียงร้อง 4 ภาษาปกาเกอะญอ ม้ง ลาหู่ และไทย สนุกสนานไม่น้อย นี่คือชั่วโมงเรียนรู้นอกห้อง ช่วยให้นักศึกษาสาขาการจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย ได้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางดนตรี และภาษา รวมถึงเรียนรู้ ภูมิปัญญาแต่ละชนเผ่าที่พึ่งพิงอยู่กับธรรมชาติ
เครื่องมือยังชีพของชนเผ่ามีหลายอย่างค่ะ ใช้ทั้งดักสัตว์ที่หากินอยู่บนพื้นดิน หากินอยู่ในที่สูงและหากินอยู่ในแหล่งน้ำ โดยชื่อเรียกมีแตกต่างกันไปตามลักษณะการใช้งานค่ะ อย่างเช่นทือดอยื้อเป็นชุดอุปกรณ์ดักหนู ทือพะโด้ใช้ดักสัตว์ใหญ่ ส่วนทือเตาะโปล้ใช้สำหรับตีหลัง นี่คือภูมิปัญญาปกาเกอะญอที่เด็กๆ ได้เรียนรู้จากครูภูมิปัญญาของชุมชน
เครื่องมือยังชีพ ที่สร้างเป็นกลไกอย่างง่ายๆ ใช้ดักสัตว์ป่า-หากินกับธรรมชาติ เช่น ทือพะโด้ ดักชะมดหรืออีเห็น วะคอ สำหรับแทงหมูป่า หรือแม้แต่ทือโพ ทำไว้ดักหนูเล็กๆ เพื่อตัดวงจรศัตรูพืชไร่หมุนเวียน เป็นวิถียังชีพของปกาเกอะญอ ที่เรียนรู้ได้จากครูภูมิปัญญาบ้านพะเดะ ในอำเภอแม่สอด ร่วมจำลองสวนป่าสาธิตการยังชีพ ความรู้ที่ได้ทดลองทำจริง ยิ่งมอบประสบการณ์ใหม่ให้กับนักศึกษาที่ไม่ได้ เติบโตมากับวิถีชนเผ่า มีความเข้าใจในกัน และกันมากขึ้น
แผนพัฒนาเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ตลอดจนนโยบายการใช้ทรัพยากรที่ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตชนพื้นเมือง อย่างการประกาศเขตป่าอนุรักษ์ทับที่อยู่-ที่ทำกินดั้งเดิม กระทบกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความหลากหลายด้านภูมิปัญญาวัฒนธรรมอย่างไม่อาจ เลี่ยงได้ และมีแนวโน้มว่าอาจสูญเสียอัตลักษณ์ องค์ความรู้ที่มีอยู่ในไม่ช้า หากการเพิ่มพื้นที่การศึกษาด้านการจัดการภูมิสังคมและภูมิวัฒนธรรมของ วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ที่ขยายไปยังชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก เป็นความหวังในการเดินหน้าการศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ให้นักศึกษาเชื้อสายชาติพันธุ์ต่างๆ ที่มีอยู่กว่าร้อยละ 90 ในสาขา มีความรู้ในการจัดการทรัพยากร สัญชาติ และสืบสานมรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมของตน