ศาลสั่งอัยการบันทึกถ้อยคำของพยานในยูเออี คดีอุ้มฆ่าอัลรูไวลี่ นักธุรกิจซาอุดิอาระเบีย 31 พ.ค.นี้
ทนายความของครอบครัว อัลลูไวรี่ นำเอกสารมอบอำนาจจาก นางวักดะห์ ซาเล็ม ฮาเหม็ด อัลลูไวรี่ มารดาของนายโมฮัมหมัด อัลลูไวรี่ มาแสดงต่อศาล เพื่อแสดงเจตนารมณ์ขอเป็นโจทก์ร่วมในคดีนี้ ซึ่งทนายความของจำเลย 5 คนในคดีนี้ คัดค้าน โดยอ้างว่า เอกสารที่ครอบครัวของนายอัลลูไวรี่ นำมาแสดงไม่ใช่ลายมือของนางวักดะห์ ซึ่งหลังจากศาลได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ได้อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีได้ นอกจากนี้ยังมีคณะเจ้าหน้าที่ทางการซาอุดิอาระเบีย ประมาณ10 คน ติดตามความคืบหน้าของคดีนี้ด้วย
ส่วนกรณีที่ศาลนัดพร้อมคู่ความทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อทราบความคืบหน้าคดีนี้ ศาลได้แจ้งให้ทราบว่า ขณะนี้การส่งประเด็นไปสืบพยานโจทก์ คือ พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก ที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือยูเออี เรียบร้อย และขณะนี้ทางอัยการส่งคำเบิกความให้กระทรวงการต่างประเทศแปลยังไม่เสร็จ
นอกจากนี้ศาลยังแจ้งให้ทราบว่า ตามมติศาลรัฐธรรมนูญ 7 ต่อ 2 เห็นว่า ตาม พ.ร.บ.ความร่วมมือระหว่างประเทศในทางอาญา พ.ศ.2535 ไม่ขัดแย้งต่อรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการวิธีการส่งประเด็นไปสืบในต่างประเทศ ขณะเดียวกันได้ให้พนักอัยการโจทก์ เดินทางไปบันทึกถ้อยคำพยานปาก พ.ต.ท.สุวิชชัย แก้วผลึก อีกครั้งที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ ในวันที่ 31 พ.ค. 2556
ส่วนกรณีที่ทนายความจำเลย และพวกจำเลยยืนยันไม่เดินทางไปด้วย เนื่องจากเห็นว่า ขั้นตอนต่าง ๆ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ร่วมในวันที่ 2 ก.ย. และ 13 ก.ย. เวลา 09.00 น. ส่วนการสืบพยานโจทก์ร่วม คนแรก คือ นายอาติก ฆอนิม อัลลูไวรี่ พี่ชายของนายโมฮัมหมัด อัลลูไวรี่
ขณะเดียวกัน พี่ชายนายโมฮัมหมัด อัลลูไวรี่ ได้กล่าวผ่านล่ามว่า คงมั่นใจกระบวนการยุติธรรมของไทย แม้จะยอมรับว่า 23 ปี ที่ผ่านมา ครอบครัวมีความเจ็บปวดอย่างมาก แต่เท่าที่ได้ติดตามการรับฟังคดีด้วยตัวเอง ทำให้พอใจกับความคืบหน้าของคดีในกระบวนการยุติธรรมของไทย เพราะเป็นสิ่งที่รอคอยมานานแล้ว
การหายตัวไปของนายโมฮัมหมัด อัลลูไวรี่ นักธุรกิจและมีศักดิ์เป็นพระญาติของกษัตริย์ไฟซาลแห่งซาอุดิอาระเบีย เกิดขึ้นเมื่อเดือนก.พ.2533 โดยนายอัลลูไวรี่ ขับรถยนต์ออกจากบ้านไปทำงาน จากนั้นได้หายตัวไป ก่อนที่ในเวลาต่อมาจะพบรถยนต์ จอดอยู่ที่ลานจอดรถโรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งภายหลังนำมาสู่การฟ้องเอาผิดกับ พันตำรวจโท สมคิด บุญถนอม กับพวกอีก 4 คน ที่เกี่ยวข้องในการเป็นเจ้าหน้าสืบสวนคดีฆาตกรรมนักการทูตซาอุฯ ซึ่งถูกตั้งข้อสังเกตว่า การฆาตกรรมอาจเกี่ยวพันกับการหายตัวไปของนายอัลลูไวรี่
สำหรับคดีนี้ นอกจากจะเป็นคดีที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาตรวจสอบหลายครั้ง แต่ไม่สามารถคลายปริศนาในคดีได้สำเร็จ และส่งผลต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดิอาระเบียมาโดยตลอด