ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เตือนเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ระวังโรคตายด่วน เสียหายแล้วในพื้นที่ตะวันออก

สิ่งแวดล้อม
23 พ.ค. 56
14:01
307
Logo Thai PBS
เตือนเกษตรกรเลี้ยงกุ้ง ระวังโรคตายด่วน เสียหายแล้วในพื้นที่ตะวันออก

เกาะติดสถานการณ์กุ้งขาวแวนนาไม 3 จังหวัดภาคตะวันออก สศก. ระบุ เกษตรกรประสบปัญหาโรคตายด่วนหรือ EMS ที่กำลังระบาดอย่างหนัก ทำราคากุ้งปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นประวัติการณ์ แนะเกษตรกรปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด ป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับลูกกุ้ง

 นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การเลี้ยงกุ้งขาวแวนนาไมใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก (จังหวัดฉะเชิงเทรา ระยอง และ จันทบุรี) พบว่า ผลผลิตลดลง เนื่องจาก เกิดโรคตายด่วนหรือโรค EMS (Early Mortality Syndrome)  ระบาดอย่างหนักในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเลี้ยงกุ้งขาวใหญ่ของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งได้แก่ อำเภอเมืองและอำเภอคลองเขื่อน ส่วนจังหวัดระยอง พบบริเวณปากน้ำประแสร์ ตำบลทางเกวียน อำเภอแกลง และจังหวัดจันทบุรี ที่ตำบลบางกะไชย อำเภอแหลมสิงห์  และตำบลตะกาดเง้า อ.ท่าใหม่ โดยประมาณความเสียหายร้อยละ 40  

 
ด้านราคา พบว่า จากปัญหาโรคตายด่วน ผู้ส่งออกกุ้งของไทยต้องเผชิญกับการขาดแคลนวัตถุดิบ   ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตกุ้งของประเทศ และปริมาณการส่งออก ปี 2556 ในไตรมาสแรกลดลง เป็นเหตุให้ราคากุ้งพุ่งสูงทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปี 2556 เช่น กุ้งขาวแวนนาไม ขนาด 60 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ตั้งแต่เดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ราคากิโลกรัมละ 161 บาท และสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นกิโลกรัมละ  205 บาท     ในเดือนเมษายน 2556 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 27  
 
อย่างไรก็ตาม การป้องกันและลดการแพร่กระจายของโรคนั้น ทางกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง        ได้จัดทำคำแนะนำเบื้องต้น วิธีการปฏิบัติงานให้กับโรงเพาะฟัก และเกษตรกรที่เลี้ยงกุ้งในบ่อดิน ให้มีการฆ่าเชื้อโรคในโรงเพาะฟัก ตั้งแต่ ระบบอากาศ ระบบน้ำบ่อหรือถังพ่อแม่พันธุ์ และอุปกรณ์และเครื่องมือเพาะพันธุ์  ส่วนเกษตรกรเอง ควรมีการเตรียมบ่อที่ดี กำจัดสารอินทรีย์ก้นบ่อ ตากบ่อให้แห้ง ฆ่าพาหะและเชื้อในบ่อ ควรมีบ่อพักน้ำ และฆ่าเชื้อในน้ำก่อนนำมาใช้เลี้ยงกุ้ง ซึ่งหากเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เชื่อว่าจะช่วยป้องกันความเสียหายที่จะเกิดกับลูกกุ้งได้ 
 
ทั้งนี้ โรคตายด่วนหรือโรค EMS ได้เริ่มระบาดมาตั้งแต่ ปี 2553 ที่ประเทศจีน เวียดนาม และมาเลเซีย ก่อนที่จะระบาดเข้ามาในประเทศไทย ปลายปี 2554 ถึงปี 2555 และยังระบาดต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เป็นเหตุให้เกษตรกรส่วนใหญ่หยุดเลี้ยงชั่วคราว ปล่อยบ่อทิ้งร้างเป็นจำนวนหลายพันบ่อ ไม่กล้าลงเลี้ยงกุ้งรอบใหม่ ส่วนเกษตรกรที่ยังเลี้ยงอยู่ก็ยังเลี้ยงแบบไม่เต็มที่ ไม่กล้าที่จะลงกุ้งหนาแน่น  ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตลดลง ในขณะที่ความต้องการบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศยังคงมีอยู่ในระดับสูง  
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง