แม้พรรคเพื่อไทยจะกำหนดท่าทีไม่สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง ฉบับของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง แต่เมื่อต้องลงชื่อเสนอร่างฉบับนี้ กลับพบว่า มี ส.ส.กว่าครึ่ง หรือ 163 คนจากทั้งหมด 264 คนร่วมสนับสนุน และถ้าต้องเทียบจำนวนผู้สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ของนายวรชัย เหมะ ที่พรรคลงมติสนับสนุนอาจจะสะท้อนความไม่ชอบมาพากลได้ เพราะร่างกฎหมายฉบับหลังมีผู้ลงชื่อ รวม 40 คนเท่านั้น และแม้พรรคการเมืองฝ่ายค้านจะประกาศขอความร่วมมือทุกฝ่ายร่วมติดตามตรวจสอบ เพราะเชื่อว่าผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยก็ปฏิเสธข้อเท็จจริง
ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มไทยสปริง หรือกลุ่มดอกบัวแห่งการตื่นรู้ เห็นว่าหลังพิจารณาแปรญัตติร่างกฎหมายปรองดองแล้วเสร็จในชั้นคณะกรรมาธิการฯ ควรมีการยื่นขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าบทบัญญัติในร่างกฎหมารยยังคงเนื้อความของร่าง พ.ร.บ.ปรองดองที่ว่าด้วยการยกเว้นความผิดของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เกิดจากคำสั่ง หรือผลของการแต่งตั้งคณะบุคคล จากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รือ คปค. 19 กันยายน 2549
สรุปรวมร่างกฎหมายที่มีหลักการและเหตุผลเรื่องการยกเว้นความผิดในการชุมนุมทางการเมือง จนถึงขณะนี้ถูกบรรจุอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รวม 6 ฉบับ คือร่างของ ร.ต.อ.เฉลิม,ของนายวรชัย,ของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, ของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน, ของนายสามารถ แก้วมีชัย และของนายนิยม วรปัญญา
ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตรา ขณะนี้ก็ได้ข้อสรุปในชั้นกรรมาธิการแล้ว โดยสาระสำคัญคือการยกเลิก ส.ว.สรรหา แต่ให้เลือกตั้ง รวม 200 คน, แก้ไขให้การยื่นพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 ต้องยื่นตรงต่ออัยการสูงสุด หากตรวจสอบไม่แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ให้ยื่นตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญได้
ขณะที่มาตรา 237 เห็นควรให้ยกเลิกความในกรณียุบพรรค และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ซึ่งทั้งการแก้รัฐธรรมนูญ และการพิจารณาร่างกฎหมายยกเว้นความผิด วิปรัฐบาล และวิปฝ่ายค้านตกลงวางกรอบเวลาพิจารณาในสมัยประชุมสามัญ เดือนสิงหาคมนี้