มติ
ปัญหาไข่ไก่แพงมักถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นทางการเมืองทุกสมัย ซึ่งนักวิชาการระบุว่า หากมองเชิงมูลค่า การปรับราคาขึ้นเพียงเล็กน้อยหากเทียบกับสินค้าอื่นๆ แต่ผู้บริโภคก็จะรู้สึกได้ทันที เพราะไข่ไก่เป็นสินค้าที่คนไทยบริโภคเป็นประจำ ขณะที่มติของที่ประชุม คณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือ เอ้กบอร์ด จะคงราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 3 บาท 30 สตางค์เพื่อให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่มีกำไร
มติที่ประชุมเอ้กบอร์ด ที่มีนายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เห็นชอบให้ คงราคาไข่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 3 บาท 30 สตางค์ ต่อเนื่องไม่มีกำหนด เพื่อให้ผู้เลี้ยงไก่ไข่มีกำไรร้อยละ 15 สอดคล้องกับต้นทุน ที่ขณะนี้อยู่ที่ฟองละ 2 บาท 85 สตางค์
ส่วนการจำกัดการนำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่ ที่ประชุมยังไม่มีการหารือถึงประเด็นนี้ เพียงแต่มีการรายงานการนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคมปีนี้ มีการนำเข้ามาแล้ว 250,000 ตัว จากเป้าหมายทั้งปี 500,000 ตัว
นอกจากนี้ เอ้กบอร์ด จะให้กรมปศุสัตว์ไปสำรวจปริมาณแม่ไก่ยืนกรง เพื่อจะพิจารณาว่าสอดคล้องกับปริมาณผลผลิตหรือไม่ รวมทั้งให้ติดตามปัญหาอุปสรรคของผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่ทำให้ปริมาณไข่ไก่ลดลง เช่น โรคต่างๆ โดยปริมาณไข่ไก่ต่อวันขณะนี้อยู่ที่ 32 ล้านฟองต่อวัน ลดลงจากปกติที่วันละ 33-34 ล้านฟอง
ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งให้กรมการค้าภายใน ตรวจสอบสต็อกไข่ของผู้ประกอบการรายใหญ่ พบว่า มีการสต็อกไข่ไก่ เบอร์ 4 และเบอร์ 5 ประมาณ 100 ล้านฟอง แต่ไม่ได้มีเจตนาทำให้เกิดการขาดแคลน แต่ไข่ไก่เบอร์ 4 และเบอร์ 5 เป็นไข่ขนาดเล็ก ผู้บริโภคไม่นิยมซื้อไปบริโภค จึงได้ประสานกับผู้ประกอบการ นำไข่ในสต็อกกระจายสู่ตลาด เพื่อลดผลกระทบให้กับผู้บริโภค เบื้องต้นจะจำหน่ายได้ภายในสัปดาห์นี้
ขณะที่การกำหนดราคาไข่ไก่นั้น เป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงพาณิชย์ โดยใช้ตัวเลขต้นทุนจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือ สศก. ที่คำนวณจากไข่ไก่น้ำหนัก 20 กิโลครึ่งต่อไข่ไก่ 300 ฟอง บวกค่าต้นทุนอาหารสัตว์ ค่าแรงและค่าบริหารจัดการอื่นๆ ก่อนกระทรวงพาณิชย์จะนำไปกำหนดราคาไข่คละหน้า ฟาร์ม ขายส่งและขายปลีก
ด้านเครือข่ายผู้เลี้ยงระบุว่า ไข่ไก่จะมีน้ำหนักได้ตามมาตรฐานต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 31 สัปดาห์จึงจะขายได้ราคาตามประกาศ โดยในช่วงสัปดาห์ที่ 19-30 เกษตรมักจะขายไข่ได้ได้ต่ำกว่าราคาประกาศมาตรฐาน
โดยการปรับราคาครั้งนี้เป็นไปตามต้นทุนและภาวะผลผลิตจึงไม่อยากให้นำราคาไข่ไก่มาเป็นประเด็นทางการเมือง และแทรกแซงราคา เพราะนอกจากจะบิดเบือนกลไกตลาดแล้วยังทำให้เกษตรกรรายย่อยต้องขาดทุนสะสม และจะส่งผลให้ต้องปิดกิจการ