การกลับมาของ
ความรักระหว่าง ลิเบอราชี ซูเปอร์สตาร์ผู้ปกปิดรสนิยมทางเพศมาตลอดชีวิต กับ สก็อต ธอร์สัน เด็กหนุ่มวัย 17 ปีที่ถูกว่าจ้างให้มาเป็นลูกมือบนเวทีและคู่รักในชีวิตจริงของเอนเตอร์เทนเนอร์รุ่นใหญ่ เรื่องราวอื้อฉาวระหว่างเด็กหนุ่มและเกย์รุ่นใหญ่ทำให้หลายค่ายในฮอลลีวูดปฎิเสธที่จะให้ทุนสร้าง ทำให้ผู้กำกับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก นำโปรเจ็คท์ไปเสนอต่อทาง HBO เคเบิลทีวียักษ์ใหญ่ จนกลายเป็นที่มาของ Behind the Candelabra ผลงานภาพยนตร์ทางโทรทัศน์ไม่กี่เรื่องที่ได้รับการยอมรับให้เข้าชิงปาล์มทองคำในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้ (56)
ขณะที่วงการภาพยนตร์ในสหรัฐฯ ยังคงถูกมองว่าไร้ซึ่งงานที่มีความคิดสร้างสรรค์ และเน้นทำกำไรจากหนังภาคต่อ แต่ไอเดียซึ่งเป็นต้นแบบกลับพบได้จากผลงานทางโทรทัศน์ ที่ได้รับความสนใจจากผู้ชมจากละครอย่างต่อเนื่อง ทั้ง The Sopranos ละครชีวิตเจ้าพ่อมาเฟียที่ยกระดับซีรีส์โทรทัศน์ให้อยู่ในระดับงานศิลปะที่ได้รับการยกย่อง Mad Men ละครดราม่าแห่งยุคที่ปลุกกระแสความคลั่งไคล้ในแฟชั่นยุค 60 จนถึง Game of Thrones ละครแฟนตาซีสุดดัง ที่สร้างกระแสในสังคมมากมาย ทั้งการตั้งชื่อเด็กแรกเกิดตามตัวละคร ขณะที่สถานีข่าวหลายแห่งมีการนำชื่อละครไปสื่อถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ ซีเรีย และจีน
การกลับมาของยุคทองของวงการโทรทัศน์ทำให้บุคลากรจากวงการฮอลลีวูดไม่น้อยหันมาสร้างสรรค์ผลงานทางโทรทัศน์มากขึ้น ทั้ง สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก ผู้กำกับของ Behind the Candelabra ที่เคยประกาศวางมือจากการสร้างหนัง แต่หันมาให้ความสนใจกับงานทางโทรทัศน์ เพราะมองว่าสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ยุคทองของวงการทีวี ที่ละครกลายเป็นประเด็นที่ผู้คนพูดถึงในชีวิตประจำวันแทนที่หนังเหมือนในอดีต
ส่วน นิโคลาส วินดิง ราฟน์ ผู้กำกับชาวเดนมาร์กจาก Only God Forgives มองว่าข้อเสียของฮอลลีวูดคือไร้ซึ่งความกล้าในการสนับสนุนการเงินกับเนื้อหาที่ท้าทาย สอดคล้องกับความคิดของ ปีเตอร์ แจ็คสัน ผู้กำกับหนังบล็อกบัสเตอร์ ที่มองว่าทุกวันนี้วงการมีแต่หนังแอ็คชั่นทุนสูงและหนังรักหนังตลกทุนต่ำ ส่วนหนังทุนสร้างขนาดกลางซึ่งขายเนื้อหาเข้มข้นกลับมีออกมาน้อยลง เนื่องจากโปรเจ็กท์ดังกล่าวถูกมองข้ามโดยค่ายหนัง และถูกสร้างเป็นละครที่ประสบความสำเร็จในวงการโทรทัศน์ในทุกวันนี้