รฟท.ยันบริหาร
ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย ยืนยันว่า การนำโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ กลับมาบริหารภายในสังกัดการรถไฟแห่งประเทศไทย แทนในรูปแบบ "บริษัทจำกัด" เพราะต้องการให้เกิดความคล่องตัวในการบริหาร ส่วนปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน ถึงขั้นไม่มีเงินเดือนจ่ายให้พนักงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า สามารถแก้ปัญหาได้
นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้การรถไฟมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง และโครงการรถไฟฟ้า ที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฯ ตามแผนพัฒนาการลงทุนตามโครงการ 2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล จึงเป็นเหตุผลหลักที่ต้องการนำโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้ง เส้นทางเชื่อมต่อระหว่าง พญาไทกับสนามบินสุวรรณภูมิ กลับมาบริหารเอง จากปัจจุบันที่มีสถานะเป็น "บริษัท จำกัด" เป็นบริษัทลูก มีการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือหุ้นร้อยเปอร์เซนต์
หากต้องพัฒนาแผนตามโครงการลงทุน 2 ล้านล้านบาท จะไม่คล่องตัวในการบริหารจัดการ เนื่องจากผู้บริหารคนละชุด ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีมติรับทราบแผนดังกล่าวเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมแล้ว แต่เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของกระทรวงคมนาคมด้วย
สำหรับอนาคตรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มีแผนขยายเส้นทางออกไปยังบางซื่อ และสนานบินดอนเมือง รวมทั้งเชื่อมรถไฟฟ้าความเร็วสูง ออกไปทางภาคตะวันออก ทั้งเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง ตามแผนเร่งรัด 4 ปีของรัฐบาล
ปัจจุบันแอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มีผู้โดยสารเฉลี่ยวันละ 50,000 คน มีรายได้เกือบ 600 ล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้สถานะทางการเงินมีปัญหา เนื่องจากต้องนำรายได้ส่งให้การรถไฟฯ ทั้งหมด โดยการถไฟฯ ไม่ได้จ่ายเงินอุดหนุน ทำให้เงินเดือนของพนักงานในเดือนพฤษภาคม ต้องนำเงินจากทุนจดทะเบียน 140 ล้านบาท ไปจ่ายให้พนักงาน
นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า การจ่ายเงินเดือนมิถุนายนจะไม่เกิดปัญหาอีก เนื่องจากการรถไฟฯ จะนำเงินที่จ้างแอร์พอร์ตลิ้งค์บริหารเดินรถ 2 งวด เป็นเงิน 260 ล้านบาท ไปจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้