ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นานาชาติประนามรัฐบาลตุรกี ใช้ความรุนแรงปรามผู้ประท้วง

ต่างประเทศ
3 มิ.ย. 56
07:46
101
Logo Thai PBS
นานาชาติประนามรัฐบาลตุรกี ใช้ความรุนแรงปรามผู้ประท้วง

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและนานาชาติแสดงความไม่พอใจและไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลตุรกีใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง ทำให้การชุมนุมที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการปกป้องสวนสาธารณะ กลายเป็นการประท้วงขับไล่ผู้นำ

การประท้วงเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 31 พ.ค.2556 - 2 มิ.ย.2556 ซึ่งการประท้วงเกิดขึ้นใน 67 จังหวัดจากทั้งหมด 81 จังหวัดทั่วประเทศ แต่จุดที่รุนแรงที่สุดอยู่ในเมืองใหญ่อย่างนครอิสตันบูล, กรุงอังการ่าและจังหวัดอิซเมียร์ ที่ผู้ประท้วงได้ขว้างระเบิดเพลิงใส่ที่ทำการพรรคยุติธรรมและการพัฒนาหรือพรรคเอเค ของนายทายยิป เรเซ็ป เออร์โดกัน นายกรัฐมนตรี  ด้านรัฐมนตรีกลาโหมของตุรกี ระบุว่าตำรวจได้จับกุมผู้ประท้วงที่ก่อเหตุรุนแรงมากกว่า 1,700 คน ขณะที่สำนักงานแอนดาลูของรัฐบาลระบุว่ามีพลเรือนบาดเจ็บ 58 คนและเจ้าหน้าที่รัฐบาดเจ็บ 115 คน

ส่วนที่นครอิสตันบูล ผู้ประท้วงได้ขับรถตักดินพยายามบุกฝ่าแนวกั้นของตำรวจเข้าไปที่ทำเนียบนายกรัฐมนตรี แต่ถูกตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและฉีดน้ำแรงดันสูงสกัดไว้ จุดเริ่มต้นของการประท้วงเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1พ.ค.2556 เมื่อประชาชนกลุ่มหนึ่งได้ฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของรัฐบาลด้วยการบุกเข้าไปนั่งประท้วงในจตุรัสทักซิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะเกซี พื้นที่สีเขียวแห่งสุดท้ายของนครอิสตันบูล เพื่อขัดขวางไม่ให้เจ้าหน้าที่ตัดต้นไม้ทำลายสวนสาธารณะ เพื่อนำที่ดินไปสร้างศูนย์การค้า แต่ทางการใช้ความรุนแรงขับไล่คนกลุ่มนี้  จึงกลายเป็นประเด็นที่สร้างความไม่พอใจให้ชาวตุรกีทั่วประเทศ และนำไปสู่การชุมนุมเกือบทั้งประเทศ

ขณะที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม ผู้ประท้วงหลายร้อยคนรวมตัวหน้าอาคารรัฐสภายุโรป เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีของตุรกีลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้นำตุรกีใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงในตุรกีที่ชุมนุมอย่างสงบ นอกจากนี้ได้ระงับสัญญานอินเตอร์เน็ต ทำให้คนที่อยู่ในตุรกีไม่สามารถใช้เว็บไซต์สังคมออนไลน์ เช่น ทวิตเตอร์ เพื่อกระจายข่าวสู่โลกภายนอก ขณะที่สื่อของตุรกีไม่ยอมรายงานข่าวการประท้วง

โดยผู้ประท้วงชาวตุรกี มองว่านายเออร์โดกันกำลังทำตัวเหมือนสุลต่านยุคใหม่ เป็นผู้นำเผด็จการและพยายามจะเปลี่ยนตุรกีให้เป็นรัฐอิสลาม  การใช้ความรุนแรงของรัฐบาลตุรกีสร้างความกังวลให้กับองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่างองค์การนิรโทษกรรมสากล ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลตุรกี ส่วนองค์กรฮิวแมน ไรท์ วอช มองว่าตัวเลขผู้บาดเจ็บน่าจะสูงกว่า 58 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่มาจากทางการ ส่วนชาติพันธมิตรนาโต้อย่างอังกฤษ,ฝรั่งเศสและสหรัฐฯเรียกร้องให้รัฐบาลของนายเออร์โดกันใช้ความอดทนอดกลั้น ขณะที่สหภาพยุโรปที่ออกแถลงการณ์ประณามรัฐบาลตุรกีที่ใช้กำลังอย่างไม่เหมาะสมกับผู้ประท้วง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง