ทำบุญหมู่บ้านโปรตุเกส
คริสตศาสนิกชนร่วมแห่พระรูปนักบุญเปโตรและนักบุญเปาโลในงานฉลองประจำปีที่โบราณสถานนักบุญเปโตร หรือ สุสานบ้านโปรตุเกส สำหรับการเข้าร่วมงานบุญในวันนี้ (19 มิ.ย.) ไม่เพียงรำลึกถึง 2 นักบุญคนสำคัญในช่วงใกล้วันสมโภช 29 มิถุนายน แต่ผู้มาร่วมงานบางส่วนยังได้นึกย้อนถึงบรรพบุรุษชาวโปรตุเกส ที่เลือกลงหลักปักฐานในสยามตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยานับเนื่องมาเป็นเวลา 500 ปี
ส่วนแผ่นปังศักดิ์สิทธิ์ที่ผ่านการทำพิธีศีลมหาสนิท ถูกแบ่งส่งต่อให้กับคริสตศาสนิกชนที่มาร่วมงานบุญ 30 ปีมาแล้ว ที่กิจกรรมนี้จัดขึ้นที่บ้านโปรตุเกส โบราณสถานที่เป็นหลักฐานแสดงถึงการเข้ามาของชาวตะวันตกชาติแรกที่มีความสัมพันธ์กับสยาม เพราะบ้านอาศัยอยู่ชิดติดกับสุสาน โกศล ธารีจิตร จึงผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ตั้งแต่จำความได้ และเชื่อว่าเป็นทายาทของชาวโปรตุเกสที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งนั้น ชายชราจึงถือเป็นภารกิจสำคัญในการดูแลโบราณสถานแห่งนี้ ไม่เพียงเพราะเคยเป็นศูนย์รวมใจคริสตชนโรมันคาทอลิกในอดีต แต่ยังเป็นหน้าที่ของลูกหลานหมู่บ้านโปรตุเกสพึงดูแลสักการสถานของบรรพบุรุษ
สำหรับโบราณสถานบ้านนักบุญเปโตรได้รับการบูรณะเมื่อปี พ.ศ. 2527 นอกจากหลักฐานโบราณวัตถุและสถาปัตยกรรม ที่แสดงถึงเรื่องราวบางส่วนของคนยุคนั้น ยังมีโครงกระดูกมนุษย์จำนวนมากมายที่ถูกฝังสลับซับซ้อนไม่น้อยกว่า 200 โครง จากจำนวนนี้มีบางโครงที่เชื่อว่าเสียชีวิตเมื่อครั้งเกิดโรคระบาดใหญ่ช่วงปลายกรุงศรีอยุธยาเนื่องจากพบว่ามีการใส่ปูนขาวพอกทับบนศพ ตามความเชื่อในสมัยนั้นว่าปูนขาวสามารถระงับการแพร่เชื้อของโรคระบาดได้
เป็นเวลา 500 ปี ที่โปรตุเกสส่งทูตมาเจริญสัมพันธไมตรีกับกรุงศรีอยุธยา เวลานั้นคงมีชาวโปรตุเกสจำนวนไม่น้อยจึงสามารถรวมตัวกันตั้งเป็นชุมชนอาศัยบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานอกกำแพงเมืองด้านทิศใต้ บนพื้นที่ซึ่งพระไชยราชาพระราชทานที่ดินให้ตั้งหมู่บ้าน ชาวโปรตุเกสมีบทบาทอย่างมาก ทั้งทางการทหาร ค้าขาย และบางคนก็ทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนา หลังเสียกรุงศรีอยุธยาปี พ.ศ. 2310 ที่นี่กลายเป็นหมู่บ้านร้าง ชาวบ้านส่วนหนึ่งย้ายมาอยู่กรุงธนบุรี ราชธานีแห่งใหม่ทางฝั่งธน ต่อมาอีกไม่นานมีการตั้งชุมชนแห่งใหม่ในย่านพื้นที่เดิมและเรียกชื่อหมู่บ้านโปรตุเกส ที่ลูกหลานยังคงอาศัยมาถึงในปัจจุบัน