ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

หนี้ครัวเรือนของไทย : ปัญหาที่ต้องกังวลหรือยังฯ

4 มิ.ย. 56
07:44
70
Logo Thai PBS
หนี้ครัวเรือนของไทย : ปัญหาที่ต้องกังวลหรือยังฯ

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในปัจจุบันเป็นประเด็นที่สาธารณะให้ความสำคัญและมีความกังวลถึงแนวโน้มของหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่อาจจะกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้และความยั่งยืนทางเศรษฐกิจได้

 นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจึงได้วิเคราะห์และประเมินสถานะหนี้ครัวเรือนของไทย ดังนี้  ช่วงที่ผ่านมา การเติบโตของสินเชื่อรวมขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่เติบโตได้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องภายหลังวิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554  โดยในปี 2555 ยอดสินเชื่อรวมมีจำนวน 11.27 ล้านล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนทั้งนี้ สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (คิดเป็นร้อยละ 25.8 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 21.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 33.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากโครงการรถคันแรกของภาครัฐที่ส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจของผู้บริโภคที่เร่งการซื้อรถยนต์คันแรก ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภคกรณีไม่รวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์จะพบว่า อัตราการขยายตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 17.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 
สำหรับภาวะสินเชื่อในไตรมาสแรกของปี 2556 พบว่ามีแนวโน้มยังคงขยายตัว แต่มีอัตราที่ชะลอลงเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า โดยล่าสุด ยอดสินเชื่อรวมขยายตัวร้อยละ 15.8 ต่อปี  โดยสินเชื่อสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล (สัดส่วนร้อยละ 25.1 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 20.0 ต่อปี โดยสินเชื่อที่ขยายตัวได้ดีก็ยังคงมาจากสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นสำคัญอย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะการขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคกรณีไม่รวมสินเชื่อเพื่อการซื้อหรือเช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์พบว่า ขยายตัวลดลงอยู่ที่ร้อยละ15.1 ต่อปี

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของสินเชื่ออุปโภคบริโภคแผ่วลงจากไตรมาสก่อนหน้าโดยขยายตัวร้อยละ 1.6 (q-o-q) เทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 (q-o-q) นอกจากนี้ สินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในหมวดอสังหาริมทรัพย์ไม่ได้ขยายตัวมากนัก โดยขยายตัวร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับ ณ สิ้นปี 2555

 
รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกล่าวสรุปว่า“สถานการณ์ของหนี้ครัวเรือนที่ขยายตัวในระดับสูงในปี 2555 มาจากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดี รายได้ประชาชนเพิ่มขึ้น และนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการรถคันแรก ซึ่ง สศค. ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนจะเริ่มมีสัญญาณกลับสู่ภาวะปกติภายหลังจากที่นโยบายรถคันแรกได้สิ้นสุดลงแล้ว

นอกจากนี้ สถานะการเงินของสถาบันการเงินไทยถือว่ามีความแข็งแกร่ง และยังไม่มีสัญญาณของปัญหาหนี้เสียจากสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามในระยะต่อจากนี้ สศค. จะติดตามสถานการณ์หนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิดต่อไป


ข่าวที่เกี่ยวข้อง