ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ความหวังของ 'มนุษย์ล่องหน' หนทางหลุดพ้นจากภาวะ 'สามสูง'

6 มิ.ย. 56
10:19
213
Logo Thai PBS
ความหวังของ 'มนุษย์ล่องหน' หนทางหลุดพ้นจากภาวะ 'สามสูง'

 เสียงตะโกนในโลกเงียบ

“เราเห็นคนอายุ 60 – 70 ปี ที่ออกจากโรงงานมาแล้ว ยังต้องทอดกล้วยทอดขาย เพราะไม่มีเงินใช้ เจ็บป่วย ถึงมีสิทธิรักษาพยาบาล แถมได้เบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 บาท ก็ไปโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะไม่พอค่ารถ การออมจึงเป็นเรื่องจำเป็นมากๆ สำหรับสังคมไทย”
“ป้ากุ้ง” หรือ อรุณี ศรีโต อดีตผู้นำแรงงานสตรี ปัจจุบันเป็นประธานเครือข่ายบำนาญ กล่าวสะท้อนชีวิตยากลำบากและไม่มั่นคงของผู้ใช้แรงงาน ในเวที “สานงาน เสริมพลัง ร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่” ในการประชุมย่อยหัวข้อ  "ฟังเสียงคนที่ไม่ค่อยได้ยิน” และ “ทำอย่างไรเพื่อให้สังคมเป็นธรรม” ซึ่งนำเสนอประเด็นปัญหาของกลุ่มคนชายขอบ 7 หัวข้อ ซึ่งประเทศไทยกำลังเผชิญ ได้แก่ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน แรงงานนอกระบบ  มุสลิมจากชายแดนใต้ ผู้พิการ คนไร้สัญชาติ คนขับรถแท็กซี่   ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ  สสส.
 
ความไม่มั่นคงของชีวิตหลังวัยทำงาน
อรุณี สะท้อนชีวิตของเขาว่า ทำงานในโรงงานมาตั้งแต่อายุ 17 ตั้งแต่สมัยค่าแรงวันละ 10 บาท ผ่านขบวนการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงาน การชุมนุมสลับกับการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง กระทั่งต้องออกจากงานในปี 2543 มาทำงานนอกระบบ และปัจจุบันก็ถึงวัยเกษียณแล้ว แต่ยังไม่มีความมั่นคง ไม่มีเงินออม เพราะชีวิตผู้ใช้แรงงานเป็นชีวิตหาเช้ากินค่ำ ออกจากงานมาไม่มีหนี้สินก็ถือว่าโชคดี แต่ส่วนใหญ่มักจะมีหนี้สิน เพราะค่าแรงที่ได้กับค่าใช้จ่ายไม่สอดคล้องกัน
อรุณี เสนอให้นำ “พ.ร.บ. การออมแห่งชาติ” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ผ่านสภาแล้วมาบังคับใช้ และกล่าวด้วยว่าสังคมไทยจะยั่งยืนก็ต่อเมื่อชุมชนแข็งแรง และชุมชนจะแข็งแรงก็เพราะมีกองทุนการออมแห่งชาติ
ขณะที่ วันเพ็ญ จำปาจีนจากศูนย์แรงงานนอกระบบ จ.ราชบุรี กล่าวว่า จากประสบการณ์ที่เริ่มรวมกลุ่มบรรดาผู้ใช้แรงงานนอกระบบใน จ.ราชบุรี และใกล้เคียงนั้น พบว่า ผู้ใช้แรงงานนอกระบบ มักไม่ได้รับข้อมูลว่า งานที่ทำอยู่มีอันตราย หรือมีความเสี่ยงอย่างไร
“เขาไม่รู้ว่าอาชีพสานแห สานอวน ต้องจับอุปกรณ์ที่มีสารตะกั่ว อาชีพตัดต้นปรือซึ่งต้องอยู่ในแหล่งน้ำสกปรก เขาก็ไม่รู้ คนทำอาชีพซ่อมรองเท้า วันดีคืนดีกำลังทากาวที่รองเท้า แต่เกิดประกายไฟเพราะพัดลมเกิดช็อต จนไฟลวกใบหน้าก็มี”
วันเพ็ญเสนอว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสาธารณสุขประจำตำบล ควรมีบทบาทในการให้ความรู้กับอาชีพนอกระบบที่มีความเสี่ยงด้วย
 
โลกที่เข้าไม่ถึงของคนพิการ
ธีระยุทธ สุคนธวิท จากศูนย์ดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ ยกตัวอย่างความเหลื่อมล้ำที่ทำให้คนพิการเข้าไม่ถึงบริการสาธารณะ โดยยกตัวอย่างการเดินทางมาที่ประชุมว่า “เรามีรถไฟฟ้าที่มีทางเชื่อมจากสถานีมายังที่ประชุม แต่คนพิการก็ใช้ทางเชื่อมนั้นไม่ได้ นี่คือการออกแบบที่ไม่เป็นธรรม”
ธีระยุทธ กล่าวต่อไปว่า การเดินทางของคนพิการมีค่าใช้จ่ายสูง พลอยกระทบกับสิทธิการเข้าถึงเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น เมื่อค่าเดินทางสูง คนพิการจะไปเรียนหนังสือทุกวันได้อย่างไร การอยู่เฝ้าบ้านจึงกลายเป็นหน้าที่คนพิการ หรืออย่างบริการสาธารณสุขถึงจะฟรีก็ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้ เพราะค่าเดินทางไม่ฟรี ยังไม่นับกรณีคนพิการรุนแรง ประเภทสี่คนหามสามคนแห่ นั่งไม่ได้ นอนไปอย่างเดียว ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางแพงมาก จะไปไหนมาไหนต้องเหมารถ
ธีระยุทธ เรียกร้องให้มีการปรับปรุงสาธารณูปโภค รวมถึงระบบขนส่ง เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะ รวมถึงโอกาสอื่นๆ ด้วยรวมทั้งการศึกษา สาธารณสุข และอยากให้ทุกคนเปิดใจเห็นคนพิการเป็นเพื่อนมนุษย์ เป็นพี่น้อง เป็นสมาชิกหนึ่งของชุมชน เพื่อที่จะได้มีสังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน
ลักษณะ 'สามสูง' ข้อเสนอเพื่อการหลุดพ้น
ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธ์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาลัยเชียงใหม่ วิเคราะห์เสียงสะท้อนเหล่านี้โดยชี้ว่า ลักษณะปรากฏการณ์นี้เกิดมาจากสิ่งที่เรียกว่า “สามสูง” ได้แก่
หนึ่ง “สูญเสียตัวตนสูง” เพราะสังคมมองเห็นแต่ตัวเอง สนใจตัวเอง ไม่เห็นปัญหาของคนอื่น อย่างกรณีปัญหาคนชายขอบที่มีการเสนอเหล่านี้ ได้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องของคนอื่น และคนชายขอบก็ถูกทำให้กลายเป็นมนุษย์ล่องหน ไม่มีตัวตนในสังคม
สอง “ความเสี่ยงสูง” โดยจะเห็นได้จากผู้ที่นำเสนอปัญหาชายขอบนั้น บางกลุ่มก็ทำงานอยู่ในระบบเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการ ซึ่งมีความเสี่ยง เป็นการประกอบอาชีพที่เขาโละออกจากภาคเศรษฐกิจทางการไปแล้ว ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเจริญมาได้เพราะเขา แต่เรามองไม่เห็นหัว ปล่อยให้เขาอยู่ในสภาพความเสี่ยงจากการทำงาน รวมทั้งความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มเกษตรพันธะสัญญาที่รับพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์มาจากบริษัทใหญ่มาเลี้ยง แต่เวลามีปัญหาหรือขาดทุน เกษตรกรจะรับภาระฝ่ายเดียว แทนที่จะเป็นการรับภาระร่วมกับบริษัท
สูงที่สามคือ “ค่าเช่าสูง” หรือ “ขูดรีดสูง” ทั้งนี้ในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน ระบบทุนนิยมเป็นผู้เอาผลประโยชน์ส่วนเกินออกไปจากระบบ และเอาออกไปมากกว่าส่วนที่คืนกลับมา เช่น ระบบจ่ายภาษีปัจจุบัน ที่ไม่ว่าคนงานรับค่าแรงวันละ 300 บาท หรือคนเงินเดือนเป็นหมื่น เวลาซื้อสินค้าก็เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เท่ากัน ทั้งที่คนมีความสามารถในการจ่ายไม่เท่ากัน แต่กลไกทางเศรษฐกิจกลับผลักภาระให้คนด้อยโอกาสต้องจ่ายภาษีมากกว่า
ทั้งนี้ ศ.ดร.อานันท์ เสนอว่า หากจะแก้ภาวะ “สามสูง” นี้ จะให้คนชายขอบแต่ละกลุ่มปัญหารวมตัวช่วยเหลือกันคงไม่พอ เพราะเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกาภิวัฒน์จะพึ่ง “บ้าน วัด โรงเรียน” คงไปไม่รอด การแก้ไขปัญหาระดับรากโคน  สังคมจึงต้องสร้างกลไกแบบใหม่ขึ้นมา ต้องเปลี่ยนกลไกภาษี และต้องพูดถึงภาษีอีกหลายชนิด ทั้งภาษีที่ดิน ภาษีมรกด ภาษีทรัพย์สิน 
“ถ้าแก้สามสูงไม่ได้ ก็ต้องนั่งพูดกันอีกหลายสิบปี ว่าจะทำอย่างไรให้สังคมเป็นธรรม” ศ.ดร.อานันท์กล่าว
 
 
 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง