เปิดโครงการตรวจวัด
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกองทุนสัตว์ป่าโลก (WWF) ประเทศไทย เปิดตัวโครงการ TREEMAPS (Tracking Reductions in Emissions through Enhanced (carbon) Monitoring and Project Support) ตรวจ"วัดคาร์บอนป่า รักษาระบบนิเวศ"
โดยมีนายโชติ ตราชู ปลัดกระทรวงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะตัวแทนหน่วยงานของประเทศไทยเป็นประธานร่วมกับ ดร. อิงโก้ วิงเคิลมันน์ อุปทูตแห่งสถานเอกอัครราชทูต สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ในฐานะผู้สนับสนุนงบประมาณโครงการ และนายเพชร มโนปวิตร ผู้จัดการงานอนุรักษ์ประเทศ กองทุนสัตว์ป่าโลกไทย ที่่โรงแรมรามาการ์เด้นส์
โครงการ TREEMAPS เป็นโครงการสำรวจคาร์บอนของผืนป่าในประเทศไทย เพื่อให้ทราบว่าผืนป่ามีความอุดมสมบูรณ์ และมีความสามารถในการกักเก็บปริมาณคาร์บอนได้เท่าใด โดยมีวัตถุประสงค์หลักของโครงการคือ การจัดทำแผนที่คาร์บอนแห่งชาติ ซึ่งจะจัดทำโดยการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ ทั้งจากภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลทางภาพพื้นดินซึ่งอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ของประเทศไทย โดยจะนำเทคโนโลยีไลดาร์ (LiDAR - Light Detection And Ranging) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีตรวจวัดระยะไกลที่มีความแม่นยำสูงสุดในขณะนี้ มาใช้ในพัฒนาการจัดทำแผนที่คาร์บอนของผืนป่าในประเทศไทย โดยนำอุปกรณ์เลเซอร์สแกนติดตั้งบนเครื่องบิน เพื่อบินสำรวจผืนป่าและทำการบันทึกภาพโครงสร้างของผืนป่าในรูปแบบภาพถ่าย 3 มิติ ซึ่งภาพที่ได้จาก LiDAR จะช่วยให้การประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของผืนป่าได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังช่วยให้สามารถตรวจวัดระดับความอุดมสมบูรณ์ของป่าไม้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียนในการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้ ด้วยความริเริ่มของกองทุนสัตว์ป่าโลก
ดร.ทรงธรรม สุขสว่าง ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครอง กรมอุทยานฯ กล่าวว่า โครงการ TREEMAPS ไม่ได้มุ่งเน้นประเด็นทางวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ใส่ใจการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งอยู่รอบพื้นที่ด้วย การส่งเสริมให้คนปลูกป่าเพื่อเป็นตลาดคาร์บอนเครดิตให้พวกเขาได้ ในขณะเดียวกัน บริการทางด้านนิเวศอื่นๆ เช่น การจัดการน้ำ การท่องเที่ยว การอนุรักษ์สัตว์ป่า ครอบคลุมอยู่ในวัตถุประสงค์ของโครงการ ที่เราต้องทำให้ทุกด้านดีขึ้นด้วย
สำหรับโครงการ TREEMAPS จะเริ่มสำรวจนำร่องในผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ซึ่งครอบคลุมอุทยานแห่งชาติหลายแห่ง และเป็นผืนป่าที่องค์การ UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก มีระบบนิเวศป่ามรสุมที่มีความสำคัญในระดับโลก และยังเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ากว่า 800 สายพันธุ์ รวมทั้งเสือ ช้าง และชะนี ผืนป่าแห่งนี้ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการตัดไม้ทำลายป่า และการบุกรุกผืนป่าที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปถึง 577,000 เฮคเตอร์ (ประมาณ 3,606,250 ไร่) คิดเป็นอัตราส่วนโดยเฉลี่ยประมาณ 0.15% ต่อปี แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่นอนของการเสื่อมโทรมของป่าไม้
เมื่อปี 2554 องค์การยูเนสโกได้เสนอแนะให้มีการจัดตั้งโครงการ REDD+ เป็น หนึ่งในข้อเสนอแนะหลัก เพื่อแก้ปัญหานี้ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชนท้องถิ่น การวางแผนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และปกป้องสัตว์ที่เสี่ยงจะสูญพันธุ์ และแบ่งปันข้อมูลทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคเพื่อการใช้ประโยชน์ต่อไปใน อนาคต
สำหรับการเตรียมความพร้อมโครงการเรดด์พลัส REDD+ () ซึ่งย่อมาจาก Reducing Emissions from Deforestation and Forest Degradation and the Role of Conservation, Sustainable Management of Forests and Enhancement of Forest Carbon Stocks in Developing Countries เป็นความริเริ่มของสหประชาชาติเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันเนื่องมาจากการทำลายป่าและความเสื่อมโทรมของป่า เพิ่มการกักเก็บคาร์บอนด้วยการปลูกป่าเพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ได้เสนอโอกาสให้ไทย ในการรับความสนับสนุนทางด้านเงินทุนเพื่อโครงการอนุรักษ์ป่าไม้ของประเทศต่อไป แต่การจะได้รับประโยชน์จาก REDD+ และการได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากกลไกนี้ ประเทศไทยต้องมีระบบการวัดและติดตามการเปลี่ยนแปลงปริมาณคาร์บอนในผืนป่าที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับตามกฎเกณฑ์ของคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (IPCC)
นายจัสติน ฟอสเตอร์ ผู้อำนวยการโครงการ TREEMAPS WWF ประเทศไทย ระบุ WWF นำ เทคโนโลยีไลดาร์มาช่วยสำรวจคาร์บอนในป่า เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนที่ฐานปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในผืนป่า และมีระบบการติดตามปริมาณคาร์บอนที่น่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังสร้างเครื่องมือบนเว็บไซต์ ซึ่งทำให้ง่ายต่อการใช้งานโดยผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกระดับ และเสริมสร้างความมีส่วนร่วมในการทำงานได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปัจจุบันการวัดปริมาณคาร์บอนในป่าที่ประเทศไทยใช้ เป็นวิธีการที่ยังไม่สามารถให้ตัวเลขที่ชัดเจนในระดับที่ REDD+ กำหนดไว้ได้ โดยโครงการ TREEMAPS ได้รับงบประมาณสนับสนุนหลักจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) ภายใต้กรอบโครงการริเริ่มด้านสภาพภูมิอากาศนานาชาติ (International Climate Initiative - ICI)
ทั้งนี้โครงการ TREEMAPS คาดจะมีส่วนร่วมในการปกป้องผืนป่า เพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์จากกลไก REDD+ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ทักษะ ประสบการณ์และบทเรียนกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ประเมินผลประโยชน์ตอบแทนทางธรรมชาติ เช่น ระบบนิเวศบริการ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ พร้อมสร้างโอกาสให้คนไทย ใช้ประโยชน์จากการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนได้สูงสุด