เมื่อจอเงินขาดซุปเปอร์ฮีโร่หญิง
การสวมบทเป็นยอดมนุษย์สาวในซีรีส์ดังยุค 70 เรื่อง Wonder Woman นอกจากจะส่งให้ ลินดา คาร์เตอร์ อดีต Miss World USA ประสบความสำเร็จในวงการโทรทัศน์สหรัฐฯ และเป็นผลงานเรื่องแรกๆให้ซูเปอร์ฮีโร่หญิงก้าวขึ้นมากำจัดเหล่าร้ายด้วยตนเอง แต่ปัจจุบันหน้าที่การพิทักษ์โลกบนจอเงินกลับถูกจำกัดไว้สำหรับผู้ชาย เพราะถึงจะมีการสร้างภาพยนตร์ซูเปอร์ฮีโร่ออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่ฮีโร่หญิงที่เคยเป็นตัวชูโรงกลับไม่ได้รับการสนใจเหมือนในอดีต
แต่เดิมภาพลักษณ์ของผู้หญิงในการ์ตูนจำกัดอยู่แค่เรื่องราวความรัก กระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อผู้หญิงก้าวขึ้นมาทำงานแทนที่ผู้ชายที่ออกไปรบ ทำให้บทบาทของสตรีในสังคมมีอิทธิพลต่อการออกแบบตัวการ์ตูนวีรสตรีหญิง อย่าง Sheena, Queen of the Jungle หญิงสาวผู้เปี่ยมด้วยทักษะในการต่อสู้ ที่นำไปสู่การสร้างยอดมนุษย์หญิงมากมายในยุคต่อมา ทั้ง Wonder Woman, Hawkgirl, Supergirl, Batwoman และ Batgirl ของค่าย DC Comics ขณะที่ค่าย Marvel Comics มียอดมนุษย์หญิงอย่าง Invisible Girl ของทีม Fantastic Four และ Marvel Girl ของทีม X-Men
แม้ปัจจุบันวงการภาพยนตร์จะเป็นยุคทองของหนังซูเปอร์ฮีโร่ แต่ไม่มีที่ว่างให้ซูเปอร์ฮีโรหญิงมากนักส่วนหนึ่งมาจากความล้มเหลวทางรายได้และเสียงวิจารณ์ของ Catwoman ในปี 2004 และ Elektra ในปี 2005 หนังซูเปอร์ซึ่งทำให้ผู้สร้างไม่มั่นใจกับผลงานที่มีผู้หญิงเป็นตัวเอง ทำให้การนำ Wonder Woman กลับมาสร้างเป็นละครอีกครั้งเมื่อ 2011 ต้องถูกยกเลิก เมื่อสถานีโทรทัศน์ NBC ไม่ยอมออกอากาศตอนแรกของซีรีส์ที่ถ่ายทำเสร็จแล้ว เนื่องจากไม่พอใจในผลงาน
จอส วีดอน ผู้กำกับ The Avengers หนังซูเปอร์ฮีโร่รายได้สูงสุดตลอดกาล และเคยฝากผลงานเอาไว้ในซีรีส์ Buffy the Vampire Slayer กล่าวว่า ผู้ผลิตของเล่นไม่ชอบฮีโร่หญิง เพราะเชื่อว่าจะขายไม่ออก ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะอย่างลูกสาวเขา ชื่นชอบตัวละครฮีโร่หญิงอย่าง Black Widow และ มาเรีย ฮีล มากที่สุดในบรรดายอดมนุษย์ใน The Avengers
นอกจากวีดอนแล้วมีผู้สร้างหนังหลายเรื่องพยายามนำฮีโร่หญิงกลับคืนสู่จออีกครั้ง ทั้ง เดวิด เอส โกเยอร์ ผู้เขียนบท Man of Steel ที่สนใจพัฒนาบทของ Wonder Woman อีกครั้ง รวมถึง Marvel Production ที่สนใจการสร้างหนังซูเปอร์ฮีโร่หญิง หากมีเหนือหาที่สนใจเพียงพอ ซึ่ง วีดอน ชี้ว่าความสำเร็จของ The Hunger Games ที่เสนอภาพวีรสตรีหญิงผู้เก่งกาจ อาจทำให้กระแสมีการหันมาสร้างตัวเอกที่เป็นฮีโร่หญิงมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การความเสมอภาคทางเพศบนจอเงินอย่างแท้จริง