<"">
“ปัจฉิมบทว่า ยุติเถิดหนา ทั้งรัฐหามีผู้รู้จักเราเอย จะห่วงใยไปเล่าเมืองเก่านี่ หมดสิทธิ์บริหารราชการดีเอย จะไปที่วังเวียนเผิงเสียนแล ” บทกลอนอำลาโลกของชูหยวน กวีเอก คนสำคัญและขุนนางของจีน ที่ซื่อตรง ยึดมั่นในคุณงามความดี แต่กลับถูกศิษย์ทรยศเพราะโลภโกงกิน ยิ่งได้เห็นแคว้นฉู่ของตน ล่มสลาย จึงเลือกจบชีวิตด้วยการกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ส่วนหนึ่งของห้วงอารมณ์ยังถูกบันทึกในบทกวีหลีเซา ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าทางวรรณศิลป์ ทั้งการเปรียบเปรยที่เปี่ยมด้วยจินตนาการ ซึ่งยังเป็นการบอกเล่าประวัติศาตร์จีนได้งดงามผ่านตัวอักษร
<"">
การจากไปของกวีคนสำคัญ ที่เคยถูกเล่าขานผ่านตำนาน ยังกลายเป็นประเพณีโบราณที่ยังดำรงอยู่ เชื่อกันว่าจากการที่ชาวบ้านพายเรือหาศพชูหยวน ได้กลายเป็นเทศกาลแข่งเรือมังกรที่ยิ่งใหญ่บนผืนน้ำทั้งในไต้หวัน และฮ่องกง หรือตำนานที่ชาวบ้านนำใบไม้ห่อข้าว และทิ้งลงแม่น้ำเพื่อเซ่นไหว้แก่ชูหยวน คือที่มาของบ๊ะจ่าง หรือขนมจ้าง ที่มีเทศกาลไหว้บ๊ะจ่างช่วง 5 ค่ำ เดือน 5ของทุกปี
<"">
นอกจากจะเป็นการรำลึกถึงกวีจีนแล้ว ยังเป็นวันสำคัญก็คือพิธีไหว้บ๊ะจ่าง ซึ่งบ๊ะจ่างแซ่จิ๋ว ต้องมี 2 รสชาติ หรือ ซังเท็ง หมายถึงมีทั้งหวานและเค็ม ซึ่งรสหวานนั้นได้มาจากเผือก ชาวไทยเชื้อสายจีนไม่น้อย ลืมเลือนไปว่านี่คือวันกวีจีน เพราะถูกกลืนไปด้วยประเพณีสำคัญ อย่างการไหวบ๊ะจ่าง หรือขนมจ้าง ที่สืบทอดกันมาตามบรรพบุรุษ
ปัจจุบัน ในประเทศไทยยังคงมีผู้ไหว้บ๊ะจ่างอยู่บ้าง แต่ก็ไม่มากนัก ต่างกับจีนและฮ่องกง ที่ยังจัดเทศกาลรำลึกกันอย่างคึกคักและยังเป็น 1 ในเทศกาลที่รัฐบาลให้ความสำคัญจนกำหนดเป็นวันหยุดยาว ให้ครอบครัวได้มีเวลาอยู่ร่วมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตาอีกด้วย