ลักลอบนำแก๊สหุงต้มส่งขายประเทศเพื่อนบ้าน
การตรวจยึดแก๊สหุงต้มจำนวนเกือบ 200 ถัง บริเวณ ท่าเรือที่ 14 หรือ คลังศุลกากรที่ 7 ท่าจ่อตอง บ้านวังตะเคียน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการลักลอบนำแก๊สหุงต้มส่งออกไปยังประเทศพม่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อขายทำกำไรจากส่วนต่างราคาแก๊สหุงต้มในประเทศไทย ที่มีราคาอยู่ที่ กิโลกรัมละ 18 บาท ขณะที่ ราคาแก๊สหุงต้มในประเทศพม่า ซื้อ-ขายในราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 34 บาท
ขณะที่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ด้านอ.เชียงแสน จ.เชียงราย ซึ่งมีแม่น้ำโขงเป็นพรมแดนธรรมชาติ ที่ง่ายต่อการขนส่งด้วยเรือไปพักไว้ตามตลิ่ง หรือท่าจอดเรือ ก่อนจะลำเลียงข้ามไปยังประเทศลาว ก็ทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีคำสั่งด่วนให้ตำรวจน้ำเชียงแสนเฝ้าระวังการลักลอบนำแก๊สหุงต้มออกนอกประเทศ โดยอนุญาติให้เฉพาะเรือเดินแม่น้ำโขง ช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อรับส่งผู้โดยสาร หรือเพื่อการท่องเที่ยวเท่านั้น
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ระบุว่า ข้อมูลย้อนหลัง 5 ปีในการใช้แก๊สหุงต้มภาคครัวเรือน ที่มีอัตราเติมโตเฉลี่ย ร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่อัตราการเติมโตของจำนวนประชากรไทย มีไม่ถึงร้อยละ 1 เป็นสิ่งที่แสดงว่า การใช้แก๊สภาคครัวเรือนที่เติบโตขึ้นไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากร เป็นเพราะส่วนหนึ่งถูกลักลอบส่งออกไปต่างประเทศ และลักลอบนำไปใช้ในภาคอื่นๆ จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลหลัก ที่รัฐบาลจำเป็นต้องปรับเพิ่มราคาแก๊สแอลพีจี เพื่อลดภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ต้องนำไปชดเชยส่วนต่างราคาก๊าซแอลพีจี ประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อเดือน แต่ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อสรุปเบื้องต้นการกำหนดขึ้นราคาแก๊สหุงต้มภาคครัวเรือน ในวันที่ 1 กรกฏาคมนี้ อาจต้องเลื่อนออกไป เพื่อกำหนดระบบการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อย และร้านค้าขนาดเล็กให้เสร็จสมบูรณ์ก่อน