ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

จี้ สธ.หยุดยื้อเวลา เวียนศึกษา"แร่ใยหินไครโซไลท์" สารก่อมะเร็ง ขอให้ยกเลิกทันที

สังคม
18 มิ.ย. 56
08:45
137
Logo Thai PBS
จี้ สธ.หยุดยื้อเวลา เวียนศึกษา"แร่ใยหินไครโซไลท์" สารก่อมะเร็ง ขอให้ยกเลิกทันที

นักวิชาการ จี้กระทรวงสาธารณสุขหยุดยื้อเวลา วนเวียนศึกษาแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็ง-มีอันตรายจริงหรือไม่ เครือข่ายทีแบน ชี้ จับตา สธ. นัดประชุม 20 มิ.ย. นี้ ต้องเลิกทันทีเพราะสุขภาพคนไทยไม่ได้ดีกว่าคนทั่วโลกที่เลิกใยหินแล้ว

 สืบเนื่องกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายให้พิจารณาหาแนวทางยกเลิกการใช้ใยหินไครโซไทล์ตามติ ครม.ปีพ.ศ. 2554 ปัจจุบันล่วงมาถึง 2  ปีแล้ว กระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามมติ ครม. แม้ว่าจะมีการเรียกร้องจากภาควิชาการ และเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย (T-BAN) มาอย่างต่อเนื่อง ในเดือนเมษายน 2556 ที่ผ่านมาคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ระบุในรายงานการประชุมว่า กระทรวงอุตสาหกรรมจงใจถ่วงเวลาและดำเนินการศึกษาในประเด็นที่ซ้ำซากและเสียเวลาโดยไม่จำเป็น ส่วนกระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน ซึ่งได้มีการประชุมมาแล้วถึง 3 ครั้งและจะมีครั้งต่อไปในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ โดยอาจมีข้อสรุปว่าใยหินไม่มีอันตรายไม่ต้องเลิก ซึ่ง เป็นการสวนทางมติ ครม.

 
เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ศ.ดร.นพ. สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แทนสมาคมวิชาชีพแพทย์ พยาบาลและนักอาชีวสุขศาสตร์ ที่เข้าร่วมในคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา กล่าวว่า สมาคมวิชาชีพมีจุดยืนต่อเรื่องนี้เป็นเอกฉันท์ 2 ประการ คือ 1.หลักฐานวิชาการเชิงประจักษ์เท่าที่มีในปัจจุบันยืนยันว่าแร่ใยหินไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งและมีอันตราย 2.การพบผู้ป่วยโรคจากแร่ใยหินจำนวนน้อยของไทยเป็นผลจากการขาดระบบเฝ้าระวังและวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นภารกิจเร่งด่วนที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งรีบแก้ไขและดำเนินการ หากในการประชุมของกระทรวงสาธารณสุขในวันที่ 20 มิถุนายนนี้ มีมติว่าแร่ใยหินไครโซไทล์ไม่มีอันตรายต่อคนไทย หรือจะไม่มีมาตรการในการยกเลิกใยหิน กลุ่มนักวิชาการได้ตกลงจะไม่ยอมเป็นตรายางโดยจะวอคก์เอาท์จากที่ประชุมเพื่อแสดงจุดยืนทางวิชาการ
 
รศ.พญ. พิชญา พรรคทองสุข คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ดำเนินการยกเลิกการใช้ใยหินนี้มาตั้งแต่ปี 2549 จนมีมติครม. ให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ในปี 2554 จะเห็นได้ว่าเลยจุดที่จะตอบโจทย์ว่าควรมีมาตรการควบคุมแร่ใยหินนี้แล้ว มาตั้งโจทย์อย่างนี้ล้าหลังเหมือนกลับไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว เพราะโจทย์ตอนนี้ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องตอบประชาชนคือ จะมีมาตรการอย่างไรในการค้นหาผู้ป่วยและการดูแลสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้คนไทยปลอดภัยจากแร่ใยหินไครโซไทล์ที่สะสมเป็นระเบิดเวลามาเป็นเวลาหลายสิบปี แปลกใจที่กระทรวงสาธารณสุขยอมตกเป็นเบี้ยล่างทั้งที่กระทรวงสาธารณสุขเป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการยกเลิกแร่ใยหินไครโซไทล์มาตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา
 
นางสมบุญ  สีคำดอกแค เครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย(T-BAN) กล่าวว่า จากการติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอด ทราบว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้นำเสนอแผนการ ลด ละ เลิก การใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ไปยังครม. แล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นผลการปฏิบัติใดๆ และไม่เข้าใจว่าทำไมกระทรวงสาธารณสุขต้องมาตั้งคณะกรรมการศึกษาความเป็นอันตรายของแร่ใยหินไครโซไทล์ ซึ่งประชุมกันมาแล้วถึง 3 ครั้ง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุป การประชุมที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 20 มิถุนายนนี้  เครือข่ายทีแบนจะไปติดตามและเรียกร้องให้กำหนดมาตรการยกเลิกการผลิตและการใช้ใยหินเพื่อป้องกันผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหินไครโซไทล์โดยด่วนที่สุด ไม่ควรยื้อเวลาต่อไป เพราะสุขภาพคนไทยไม่ได้แข็งแรงกว่าสุขภาพคนทั่วโลกที่จะทนพิษภัยจากใยหินได้ อีกทั้งปัจจุบันก็มีสารทดแทนแร่ใยหินไครโซไทล์แล้วจึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จะไม่ยกเลิก


ข่าวที่เกี่ยวข้อง