2 พรรค ถกนโยบายการศึกษา รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง ปชป.เสนอเพิ่มงบกองทุนกู้ยืม พท.ยกระดับศึกษาเท่าสากล
เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับชมรมสื่อมวลชนสายการศึกษา และกลุ่ม For Thailand จัดราชดำเนินเสวนา "ถกนโยบายการศึกษารัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้ง” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ถนนสามเสน โดยมี นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายทะเบียนสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย นำเสนอนโยบาย
นายชินวรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้จะเกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจ แต่งบประมาณด้านการศึกษาไม่ได้ลดน้อยลงไป และภายหลังการเลือกตั้งไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นพรรคไหนก็ตาม แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้วางกรอบชัดเจนในการปฏิรูปการศึกษาทศวรรษที่ 2 ไว้แล้ว มีการจัดตั้งกลุ่มศึกษายุทธศาสตร์ และทำหน้าที่ขับเคลื่อนไว้อย่างชัดเจน
“การกำหนดยุทธศาสตร์ไว้ในการปฏิรูปการศึกษารอบที่ 2 พรรคยืนยันว่าการนำเสนอเชิงนโยบายครั้งนี้ ที่หัวหน้าพรรค ท่านอภิสิทธิ์ไปหาเสียงเรื่องเรียนฟรี เป็นการตอกย้ำว่าการศึกษาเป็นเรื่องของการพัฒนาประเทศ และเป็นการลงทุนขนาดใหญ่เพื่ออนาคตของชาติ”
นายชินวรณ์ กล่าวต่อว่า นโยบายแรกที่เร่งด่วน คือ นโยบายเรียนฟรี 15 ปี และเพิ่มงบกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) อีก 2 แสนล้านบาท เพราะโอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมในประเทศไทยยังมีช่องว่าง นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นไปที่เด็กชายขอบ ชาวเขา เด็กพิการ ที่สามารถเรียนร่วมในโรงเรียนปกติได้มากกว่า 9 แสนคน และให้สำนักงานการศึกษาพิเศษ ดูแลการศึกษาของเด็กพิการซ้ำซ้อน ที่มีอยู่อีกไม่ต่ำกว่า 4 แสนคน รวมทั้งเด็กที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้ต้องอยู่กับบ้าน
“มีนโยบายเปลี่ยนพ่อแม่ให้เป็นครู โดยมีครูพี่เลี้ยง 4.5 หมื่นราย นอกจากนี้ยังมีเด็กที่ต้องใช้นโยบายแบบใหม่ที่ต้องเข้ามาช่วยเหลือ เช่น เด็กที่ต้องออกเรียนกลางคันหรือต้องติดตามผู้ปกครอง ส่วนเรื่องของการกู้ยืม เด็กชนบทที่ห่างไกลยังมีอยู่มากต่ำกว่าร้อยละ 30 ของที่มีอยู่ทั้งหมด ตอนนี้งบทุนมีหนึ่งแสนสามหมื่นล้านบาท จะต้องเพิ่มให้กู้ได้อีกสองแสนห้าหมื่นราย ถ้ายังไม่ได้เข้าเรียนจะนำไปสู่คุณภาพไม่ได้”
นายชินวรณ์ กล่าวอีกว่า การสร้างมาตรฐานคุณภาพ ก็เป็นนโยบายที่หากได้เป็นรัฐบาลจะเดินหน้าต่อ เช่น ผู้เรียนจะมีคุณภาพได้อย่างไร อนุบาล มัธยมเรียนควรเรียนรู้เรื่องใด ทั้งนี้ อาชีวะต้องมีฝีมือด้านแรงงาน มีสถาบันที่พัฒนาคุณวุฒิและค่าจ้าง ซึ่งต้องสร้างเกณฑ์การวัดมาตรฐาน สำหรับมหาวิทยาลัยจะให้ไปสู่มาตรฐานโลก โดยต้องพัฒนาทักษะบัณฑิตรุ่นใหม่ ให้มีองค์ความรู้ในการตัดสินใจ มีเทคโนโลยีขั้นสูง และมีคุณธรรมจริยธรรม “ปัจจัยที่สำคัญ คือ ครู มีการสร้างครูพันธุ์ใหม่ เพิ่มงบและนโยบายให้คนเก่งมาเป็นครูคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และภาษาอังกฤษ ได้รับทุนเพื่อมาเป็นครูซูเปอร์พรีเมี่ยม และครูพรีเมียม สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการคือแก้ไข คือการเพิ่มเงินให้ครู 13% เพื่อเป็นกำลังใจให้ครู แต่ครูต้องเปลี่ยนการสอนจากการสอนเป็นการเรียนรู้ สุดท้าย คือ ไอซีที ใช้งบเนคเน็ตกว่าหมื่นล้าน จัดซื้อคอมให้ 1 คนต่อคอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง และต้องการให้ถึงโรงเรียนอย่างแท้จริง”
ขณะที่นายคณวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องการศึกษาไม่มีอะไรซับซ้อน เวลาดูเรื่องขีดความสามารถ ต้องดูเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องโทรคมนาคมที่กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยงบ 1.3% ของงบทั้งหมด ด้านเครือข่ายบรอดแบนด์ก็สำคัญมากที่จะสร้างสังคมเรียนรู้การศึกษา ต้องระวังการกลืนปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน ความเข้าถึงและก้าวถึงต้องไปด้วยกัน ทั้งนี้การปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาควรมีเรื่องคุณภาพการศึกษาแต่ก็ช้าไป 12 ปีแล้ว ไม่อย่างนั้นจะไม่ต้องเจอกับเด็กที่สอบโอเน็ตและคะแนนตกเป็นจำนวนมาก
“นโยบายพรรคเพื่อไทย คือ การยกระดับคุณภาพการศึกษาให้ตามทันสากลโลกและมีความเป็นไทย ไม่อยากเห็นศึกษาไทยเดินตามหลังสากลโดยขาดความเป็นไทย หลักสูตรที่มีต้องมีมาตรฐานสูงเทียบเท่าสากล เพราะปัญหาโลกาภิวัฒน์เป็นสิ่งที่ต้องพัฒนาแต่ต้องรักษาความเป็นไทยเอาไว้ เช่น โครงการตำราแห่งชาติ เป็นเรื่องเนื้อหาสาระ (content)”
นายคณวัฒน์ กล่าวต่อว่า การผลิตและปฏิรูปครู ต้องเป็นนโยบายที่สำคัญ อาจผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ การสร้างครูพันธุ์ใหม่ต้องใช้เวลา ทดแทน 2 แสนคนจาก 4 แสนคนที่จะออกไปใน 10 ปีข้างหน้า ตอนนี้ครูจำนวนรวมไม่ได้ขาด มีอัตราส่วนครู 1 ต่อเด็ก 25 คน ครูกระจุกไม่กระจาย กระบวนการนี้ต้องมีการจัดการใหม่ทั้งหมด ระบบผลตอบแทนเงินเดือน ซึ่งจูงใจคนเก่งคนดีเข้ามาเป็นครู และต้องมาดูแลเรื่องหนี้สินครู จะมีนโยบายพักชำระหนี้ครูที่ไม่เกินห้าแสนบาทในเวลาสามปี และนโยบายรถคันแรกของครูโดยคืนภาษีสรรพสามิตให้ลดยอดราคารถรุ่นประหยัดลง
“ช่วงระยะเปลี่ยนผ่านเป็นช่วงที่รอไม่ได้ ขีดความสามารถต้องทำทุกนาที ทุกวัน สิ่งที่จะมาเติมเต็มการศึกษา คือ เทคโนโลยี เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะทุกคนอยากเข้าโรงเรียนที่ดี ซึ่งต้องกระจายปัญหานี้ ในระยะสั้น ที่ทำได้เร็วคือมียุทธศาสตร์เทคโนโลยีเข้ามาใช้ สิ่งที่ขาดคือดิจิทัลคอนเทนต์ ต้องทำไปพร้อมกับการปฏิรูปหลักสูตร ไม่ต้องรอจนจบศึกษา ควรจัดเวทีเสวนาเชิญครูมาทำการวิจัย เพิ่มกระบวรการการเรียนการสอนความเป็นไทย ซึ่งเป็นกระบวนการที่สำคัญมาก จะต้องผลักดันให้เกิดการวิจัยหลักสูตรและพัฒนาการเรียนการสอน เช่น การบวกเลขจากการทด เป็นการหักออกเต็มๆ”
นายคณวัฒน์ กล่าวด้วยว่า จะติดตั้งอินเตอร์เน็ตฟรีไวไฟในที่สาธารณะ โรงเรียน โรงพยาบาล นอกเหนือการแจกแท็บเล็ทพีซี โดยจะเริ่มแจกเด็ก ป.4 ถ้าแจกทั้งหมดแปดล้นคน งบไม่เกิน 5หมื่นล้าน ด้านอาชีวะศึกษา คนเรียนน้อย เป็นเรื่องต้องสร้างทักษะให้เชื่อมโยงภาคการผลิต ส่วนด้านอุดมศึกษา ต้องทำให้อุดมศึกษาเชื่อมโยงกับท้องถิ่น ทุกมหาวิทยาลัยจากการผลิตบัณฑิตต้องเปลี่ยนเป็นการสร้างผู้ประกอบการตั้ง กองทุนตั้งตัวได้ จัดไว้ทุกมหาวิทยาลัยเป็นวงเงินประมาณ 1,500 แสนล้าน เป็นหัวใจสำคัญให้อุดมและอาชีวะปรับตัวและหลักสูตร
ในช่วงหลังมีการวิจารณ์นโยบายพรรคโดย คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา อดีตคณะกรรมการปฏิรูป (อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน) ดร. ประภาภัทร นิยม สถาบันอาศรมศิลป์
คุณหญิงกษมา กล่าวว่า รัฐบาลชุดใหม่ควรประกาศนโยบายการศึกษาที่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ กลุ่มเด็กที่อ่อนด้อยที่สุดในระบบการศึกษา หลุดออกและตกหล่นจากระบบการศึกษาในปัจจุบันเป็นเป้าหมายที่ทุกหน่วยงานต้องให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้น พรรคการเมืองเคยเข้าไปศึกษาเด็กกลุ่มนี้ แต่ไม่ได้ถูกนำมาเป็นนโยบาย ทั้งนี้นโยบายด้านการศึกษาที่ทั้ง 2 พรรคนำเสนอนั้นจะสามารถเข้าถึงเด็กกลุ่มนี้ได้จริงหรือไม่
“ความแตกต่างในด้านต่างๆ ของเด็กเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนเข้าเรียน ดังนั้น ควรเริ่มในเด็กตั้งแต่ก่อนเข้าโรงเรียน ให้มีการปรับการเรียนการสอนที่หลากหลาย ปัจจุบันเรากำหนดการศึกษารูปแบบเดียว ควรทำให้ยืดหยุ่นมากยิ่งขึ้น เพื่อแก้ปัญหาเด็กออกเรียนกลางคัน หลุดออกและตกหล่นจากระบบการศึกษาในลักษณะนี้”
คุณหญิงกษมา กล่าวต่อว่า ควรเพิ่มงบประมาณในการดูแลเด็กทุกคนที่โตมาในสถานการณ์ที่ยากไร้ ทั้งนี้กระทรวงศึกษาธิการต้องยอมรับและให้หน่วยงานอื่นเข้ามาทำงานเพื่อการเรียนรู้ของเด็ก เรียกร้องให้หาคนดีมีฝีมือ และเข้าใจด้านการศึกษามาเป็นรัฐมนตรี เพราะข้าราชการเบื่อรัฐมนตรีฝึกงาน ที่ยังไม่รู้จริง ไม่เข้าใจและใช้เวลาการศึกษานานกว่าจะทำงานได้ รวมทั้งพรรคการเมืองควรมีการสานต่อนโยบาย มีระบบการศึกษาที่ต่อเนื่อง เน้นนโยบายระยะยาว อย่าเน้นแค่นโยบายระยะสั้นที่ดูดี หวือหวา แต่ไม่ใช่ของจริง“งบประมาณด้านการศึกษาต้องเพิ่มมากขึ้น ให้ตรงกลุ่มคนที่ควรได้ หรือจำเป็นต้องได้ ที่ผ่านมาเป็นการลงทุนที่ไม่ตรงจุด สำหรับนโยบายการแจกอุปกรณ์ ICT ที่เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ของเด็กเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีปัญหามาก ต้องทำการศึกษาให้ดี ที่ผ่านมามีนโยบายดีๆ เช่น นโยบายไม่รับฝากเด็กเข้าเรียน แม้จะยังไม่สำเร็จ 100% แต่เป็นโครงการที่น่าส่งเสริม ควรศึกษาต่อว่าจะแก้ไขให้สมจริงได้อย่างไร”
คุณหญิงกษมา กล่าวด้วยว่า ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ทุกพรรคการเมืองต้องจับมือกัน ให้ความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นจบลงที่โรงเรียน เล็งเห็นความสำคัญว่าการศึกษาของเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ให้โรงเรียนเป็นสนามแห่งการร่วมมือ ไม่ใช่สนามรบขณะที่ดร. ประภาภัทร กล่าวว่า การศึกษาที่ได้คุณภาพไม่จำเป็นต้องแพง ที่ได้ยินจากทั้งสองพรรคไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เพิ่งมารู้ตัวว่าคุณภาพการศึกษาค่อนข้างล้าหลังและตกต่ำแล้ว เชื่อว่าทุกพรรคคงจะเริ่มคิดในใจแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นและจะแก้ปัญหาศึกษาได้อย่างไร “กระบวนการจัดคุณภาพการศึกษาต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง เริ่มตั้งแต่ครอบครัวและสังคม ที่จะมีส่วนร่วมในการชี้นำ ไม่ใช่แค่ครูเท่านั้น อย่างไรก็ตามสถานศึกษาก็เหมือนเป็นเป้าหมายที่ทั้งถูกกระทำและถูกคาดหวัง อีกทั้งยังเป็นสนามรบอีกแบบหนึ่งที่ต้องเผชิญหน้ากันอยู่ เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการได้หรือเสียคุณภาพ”
ดร. ประภาภัทร กล่าวต่อว่า นโยบายของทั้ง 2 พรรคการเมือง เป็นไปในภาพกว้าง เช่น คุณภาพครู ที่มีการหาคำตอบโดยโครงการสร้างครูดี ครูพันธุ์ใหม่ เปิดโอกาสการศึกษา แต่ต้องตั้งคำถามต่อไปด้วยว่าโครงการเหล่านี้จะทำให้คุณภาพการศึกษาดีขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะการปฏิรูปการศึกษาในหลายปีที่ผ่านมาก็มีการพูดถึงแต่ก็ไม่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
“การทุ่มงบประมาณ หรือนโยบายด้านเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาจะดีขึ้นได้ เพราะการทุ่มงบประมาณที่ผ่านมา ลงไปในจุดที่กระตุ้นถูกด้านหรือไม่ การใช้จ่ายจำนวนมากไปถูกจุดที่ควรจะได้รับหรือไม่ แม้เงินอาจไปถึงรายหัวเด็ก แต่ยังไม่ไปถึงส่วนอื่นๆ เช่นกลไกในการขับเคลื่อน และกลไกประกันคุณภาพ”
ดร. ประภาภัทร กล่าวด้วยว่า ที่ทั้ง 2 พรรคพูดถึงคุณภาพของครู การเพิ่มความรู้และการฝึกฝนเป็นเรื่องดี แต่หากครูขาดหัวใจ ขาดน้ำหล่อเลี้ยงของหัวใจที่เงินไม่สามารถซื้อได้ คุณภาพก็ไม่เกิด ฉะนั้น เราต้องการผู้บริหารที่เข้าใจสิ่งเหล่านี้ด้วย เมื่อพรรคการเมืองมองภาพใหญ่ต้องมองให้ลงลึกด้วย ถึงระบบบริหารว่ามีวิธีการแบบไหนที่จะก่อให้เกิดกลยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านอย่างแท้จริง