ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กรมโรงงานอุตสาหกรรม เสนอกรอบเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในการประชุมครั้งที่ 4

สังคม
20 มิ.ย. 56
05:18
189
Logo Thai PBS
กรมโรงงานอุตสาหกรรม เสนอกรอบเวลาการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในการประชุมครั้งที่ 4

จะมีการประชุมคณะกรรมการศึกษาผลกระทบแร่ใยหินครั้งที่ 4 ในวันนี้ (20 มิ.ย.) ซึ่งเบื้องต้นกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เสนอให้กำหนดกรอบเวลาในการยกเลิกใช้แร่ใยหินในห้วงเวลา 2-5 ปี ขณะที่สมาคมวิชาชีพแพทย์ ยืนยันว่าหากการประชุมวันนี้ยังไม่มีความชัดเจนจะวอล์กเอ้าท์จากห้องประชุมทันที

คณะกรรมการศึกษาผลกระทบแร่ใยหิน จะมีการประชุมเป็นครั้งที่ 4 ในวันที่ 20 มิถุนายน เพื่อพิจารณาถึงข้อมูลของ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ที่แนะนำให้สมาชิกทุกประเทศยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ทันที เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งขณะนี้มี 50 ประเทศที่ได้ดำเนินการไปแล้ว

ศ.นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้แทนสมาคมวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และนักอาชีวสุขศาสตร์ กล่าวว่า สมาคมวิชาชีพ มีจุดยืนกรณีการยกเลิกใช้แร่ใยเห็น เป็นเอกฉันท์ 2 ประการ คือ หลักฐานวิชาการยืนยันว่า แร่ใยหินไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็ง และมีอันตราย และผลกระทบที่อ้างว่า พบผู้ป่วยโรคจากแร่ใยหินจำนวนน้อยในประเทศไทยนั้น เป็นผลจากการขาดระบบเฝ้าระวังและวินิจฉัยโรคที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งในส่วนนี้กระทรวงสาธารณสุขต้องเร่งดำเนินการ

นอกจากนี้ยังยืนยันด้วยว่า หากการประชุมครั้งนี้ ยังไม่มีมาตรการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน กลุ่มนักวิชาการ และเครือข่ายสมาคมวิชาชีพแพทย์ จะเดินออกจากห้องประชุม โดยจะไม่ยอมร่วมเห็นชอบกับการยื้อเวลาการยกเลิกใช้แร่ใยหินต่อไป

สำหรับการประชุมในวันที่ 20 มิถุนายน มีรายงานว่า ที่ประชุมจะพิจารณากรอบเวลาในการยกเลิกใช้แร่ใยหิน ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้เสนอ ซึ่งเบื้องต้น นายณัฐพล ณัฎฐสมบูรณ์ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้เสนอกรอบการยกเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ใน 5 ผลิตภัณฑ์ภายในเวลา 2-5 ปี ให้กับนายประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้ว และน่าจะมีการเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนนี้

สำหรับรายละเอียดสำคัญคือ ให้กำหนดยกเลิกกระเบื้องแผ่นเรียบ และกระเบื้องยางปูพื้นที่ผลิตจากแร่ใยหินภายใน 2 ปี ส่วนผ้าเบรก และคลัตช์ ท่อซีเมนต์ และกระเบื้องมุงหลังคากำหนดให้ยกเลิกภายใน 5 ปี ซึ่งเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแล้ว กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.โรงงาน เพื่อกำหนดชนิด คุณภาพ อัตราส่วนของวัตถุดิบ แหล่งกำเนิดของวัตถุดิบ ที่จะนำมาใช้ผลิตในโรงงาน ซึ่งสามารถห้ามใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้

ด้านนายวิรัตน์ อาชาอภิสิทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. กล่าวว่า หากรัฐบาลห้ามใช้แร่ใยหินก็จะต้องยกเลิกมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ มอก. ทั่วไปในผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนผสม 10 รายการ โดยต้องเสนอต่อคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อออกเป็นพระราชกฤษฎีกา

สำหรับแนวทางการยกเลิกใช้แร่ใยหิน กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากรัฐบาล ให้หาแนวทางยกเลิกการใช้แร่ใยหินตามติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2554 แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยที่ผ่านมามีการเรียกร้องจากภาควิชาการ และเครือข่ายรณรงค์ยกเลิกแร่ใยหินแห่งประเทศไทย จนนำมาสู่การตั้งคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน เมื่อเดือนเมษายน 2556 โดยข้อเสนอของเครือข่ายฯเห็นว่า ควรมีการยกเลิกการใช้ในทันที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง