ชาวนาหนุ่มจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ต้องดิ้นรนขึ้นสังเวียนชกมวย รวมถึงขายแรงเป็นกรรมกรเพื่อหาเงินมารักษาภรรยา เพียงเพราะที่นาสมบัติชิ้นสุดท้ายโดนน้ำท่วม ผลจากการสร้างเขื่อนของภาครัฐ ถ่ายทอดใน ทองปาน ภาพยนตร์กึ่งสารคดีปี 2519 แม้ถูกห้ามฉายในไทยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา หากเนื้อหาที่เข้มข้นสะท้อนชีวิตจริงทำให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ไปคว้ารางวัล Outstanding Film of Southeast Asia จากเทศกาลภาพยนตร์ London Film Festival แม้ตอนจบของเรื่อง ทองปาน หายสาบสูญในเหตุวุ่นวายทางการเมือง หาก 6 ปีถัดมา ชื่อของ ทองปาน โพนทอง ปรากฏขึ้นอีกครั้งในฐานะนักแสดงนำจาก ลูกอีสาน ภาพยนตร์ไทยฝีมือ วิจิตร คุณาวุฒิ และคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ปี 2525 ในบท พ่อซึ่งทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกชายได้เรียนหนังสือ ด้วยเนื้อหาสะท้อนสังคมและปัญหาของชาวนาทำให้ทั้ง 2 เรื่องถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ไทยที่หลายเรื่องที่ดีที่สุดที่เคยมีการสร้างและถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกของชาติ
กว่า 400 กิโลเมตรห่างไกลจากกรุงเทพมหานครและวงการภาพยนตร์ องอาจ มณีวรรณ ในวัย 65 ปี ชาวบ้านตำบลโพนทอง เลี้ยงชีพด้วยการทำนาเหมือนเช่นอดีต หากน้อยคนจะทราบว่าเขาคือนักแสดงเจ้าของบทบาท ทองปาน ภาพยนตร์สำคัญเรื่องหนึ่งของชาติ และใช้ชื่อ ทองปาน โพนทอง รับบทนำใน ลูกอีสาน ก่อนที่ความจำเป็นในชีวิตจะบังคับให้เดินทางไปเป็นขายแรงงานที่ประเทศลิเบีย ไม่ต่างจากคนอีสานรุ่นราวคราวเดียวกันในยุคนั้นโดยไม่มีแม้แต่โอกาสแม้แต่มารับรางวัลทางการแสดงของตัวเองในวันงาน หากผลงานภาพยนตร์เพียง 2 เรื่องในชีวิตทำให้เขาภูมิใจไม่น้อย ที่ได้มีในการสื่อถึงปัญหาและวิถีชีวิตของเพื่อนร่วมอาชีพออกไปในวงกว้าง
ภาพยนตร์กึ่งสารคดีเรื่อง ทองปาน สร้างขึ้นเพื่อสะท้อนปัญหาความล้มเหลวจากนโยบายพัฒนาชนบท ที่แม้วันนี้ชาวนาและเกษตรกรส่วนหนึ่งอาจมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น แต่อีกจำนวนไม่น้อยยังคงต้องเผชิญทุกข์ในวังวนเกษตรกรรม แต่สำหรับ องอาจ มณีวรรณ การได้กลับมาทำมาหากินกับผืนนากว่า 20 ไร่ คือความสุขที่เลือกแล้วในชีวิต