ศิลปินนำความกลัวทั่วโลกถ่ายถอดผ่านนิทรรศการ
แผ่นกระจกหลากสี หลายรูปทรง เชื่อมต่อกันเป็นผลงานดูแปลกตา เช่น ลวดทองแดงถูกดัดอย่างซับซ้อน ชวนสงสัย คือศิลปะจัดวางจากแนวคิดของ "ทัศนัย เศรษฐเสรี" โดยนำวัตถุไร้ชีวิต มาสะท้อนความกลัวของคนยุคปัจจุบัน
กว่า 2 ปีที่วิจัย และสำรวจความกลัวของผู้คนทั่วโลกผ่านการสัมภาษณ์ และเก็บข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต ทำให้ศิลปินวัย 45 ปี ถ่ายทอดโครงสร้างความกลัวออกมาให้เห็นเป็นรูปร่างผ่านงานศิลปะในนิทรรศการ "ลอด ข้าม ผ่าน โครง : Trans-Structurity"
ทัศนัย เศรษฐเสรี ศิลปิน กล่าวว่า สังเกตความกลัวที่เกิดขึ้นรอบโลกเมื่อ 2 ปีก่อน สงสัยว่ามนุษยชาติอยู่ภายใต้วัฒนธรรมความกลัวยังไง เลยพยายามเข้าใจ
ทัศนัยยังนำความเชี่ยวชาญด้านสังคมศาสตร์ รัฐศาสตร์ ปรัชญา และศิลปะ มาผสมผสานในงานศิลป์ และนำความกลัวของผู้คนทั่วโลกจากเว็บไซต์ The Structure of Fear มาถอดรหัสผ่านซอฟท์แวร์ กลายเป็นภาพ 2 มิติ และโมเดล 3 มิติ สื่อถึงโครงสร้างความกลัวที่ถูกรื้อถอน ซึ่งเขาเชื่อว่าการมองเห็นความกลัวของตัวเองจะช่วยให้ผู้คนรับมือกับความกลัวได้ดีขึ้น
ทัศนัย เศรษฐเสรี ศิลปิน กล่าวว่า เอาเทคโนโลยีมารื้อถอนโครงสร้างความกลัว ทำให้เห็นว่าความกลัวสามารถก้าวข้าม และลอดผ่านได้
ชณัฐ ภัคเวโรจน์ ผู้ชมนิทรรศการ กล่าวว่า งานเป็นรูปเรขาคณิตดูแล้วก็สวยดี แต่มีอะไรแฝงอยู่ ความกลัวเป็นโครงสร้างที่เราคิดขึ้นมาเอง ถ้าถอดโครงสร้างนี้ได้ก็จะเอาชนะความกลัวได้
เพราะความกลัวไม่ใช่สิ่งถาวร และเป็นเพียงจินตนาการที่ปรุงแต่งขึ้น การรู้จัก และเข้าใจความกลัวจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการก้าวข้ามผ่านข้อจำกัดในชีวิต นิทรรศการ "ลอด ข้าม ผ่าน โครง : Trans-Structurity" จัดแสดงที่ 338 OIDA Gallery ถนนพระราม 4 ถึงวันที่ 31 สิงหาคม