แรงงานไทยด้านไอที อยู่หรือไปในตลาด
เทคโนโลยีเติบโต ธุรกิจไอทีขับเคลื่อน แรงงานกลุ่มตลาดไอทีควรมองหาช่องทางการทำงาน ปรับ ศึกษาก่อนสายไป โอกาส หรือ เสียโอกาสของบุคลากรในสายไอทีไทยใครควรรับผิดชอบ ส่งเสริมศักยภาพตอบรับตลาด AEC
หากมองย้อนกลับไปในอดีตที่ผ่านมาเทคโนโลยี โทรคมนาคม ไอทีค่อยๆ คืบคลานเข้ามามีบทบาทในทุกด้านรอบตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งของเครื่องใช้ การทำงาน การศึกษา ธุรกิจ ล้วนแต่มีส่วนประกอบของเทคโนโลยีแทบทั้งสิ้น และในอนาคตอันใกล้เชื่อว่าทุกสิ่งรอบตัวเราเทคโนโลยีจะกลืนไปในทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งอดีตที่ผ่านมาจะเห็นถึงการเติบโตในธุรกิจดังกล่าว โดยเติบโตขึ้นในแต่ละปีประมาณร้อยละ 20 และที่เห็นได้ชัดคือกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ อันเป็นผลให้แรงงานในกลุ่มดังกล่าวเป็นที่ต้องการตามลำดับ และหลายฝ่ายเองก็มองว่าธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับเทคโนโลยีจะเป็นอีกสาขาที่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ในอนาคต
วันนี้การเติบโตทางธุรกิจรุดหน้าอย่างรวดเร็ว ภาคส่วนต่างๆ มีการตอบสนองรับกระแสเป็นอย่างมากทั้งภาครัฐ และเอกชนที่วันนี้เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจด้านเทคโนโลยี โทรคมนาคมการสื่อสาร ไอทีต่างๆ โดยเฉพาะเมื่อวันนี้กระแสประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ก็กำลังจ่อคอประเทศไทยอยู่ในอีก 2 ปีข้างหน้า
แต่วันนี้เราได้เตรียมรับมือกับการเปิดตลาดเสรีไปแล้วแค่ไหน ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจในด้านดังกล่าวมีทั้งที่เป็นของเชื้อสายไทย เชื้อสายต่างชาติ หรือลูกผสมที่มีการร่วมทุนกันเปิดธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะวันนี้ประเทศในแถบใกล้บ้านเราได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมไปแล้วระดับหนึ่ง โดยเฉพาะรากฐานที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบ การทำงาน คือ บุคลากรที่มีศักยภาพ ตรงตามความต้องการที่หน่วยงาน หรือองค์กรนั้นๆ ต้องการ
ผลสรุปจากการศึกษาหรือสำรวจของ แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ประเทศไทย ที่ได้จากคำบอกเล่าของ นายไซมอน แมททิวส์, ผู้จัดการประจำประเทศไทย, แถบตะวันออกกลาง และเวียดนาม แมนพาวเวอร์กรุ๊ป ที่ควบคุมดูแลตลาดแรงงานในภาคพื้นดังกล่าว เปิดเผยถึงข้อมูลที่น่าตกใจกับเราว่า เทรนด์ในวันนี้ รวมถึงเทรนด์ในอนาคตของธุรกิจด้านเทคโนโลยี-ไอที
ในช่วงระยะเวลา 2 - 3 ปี ประเทศไทยอาจจะค่อยๆ เติบโต แต่ไม่ถึงกับก้าวกระโดด อาจเป็นเพราะระบบในด้านต่างๆ ยังไม่ได้มีความเสถียรมากนัก แต่นับจาก 3 ปีข้างหน้าเชื่อว่าภาคธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆ จะนำเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน
ดังนั้นเมื่อในอนาคตธุรกิจเติบโต แรงงานที่มีศักยภาพก็เป็นที่ต้องการมากขึ้นเช่นเดียวกัน แต่เมื่อธุรกิจกำลังไปได้ดี การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็เปิดตลาดเสรีเช่นเดียวกัน ดังนั้น ข้อมูลจากหลายฝ่ายๆ ของหน่วยงานในด้านดังกล่าว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า บุคลากรไทยมีศักยภาพ มีทักษะในด้านการทำงานที่ดี แต่ขาดเรื่องภาษา ซึ่งวัดได้จากปริมาณแรงงานที่ก้าวเข้าสู่ตลาดดังกล่าวคือ 100 คน มีความสามารถในด้านภาษาที่ดีอยู่ที่ประมาณ 1-5 คน และสามารถที่จะสื่อสารได้อยู่ที่ประมาณ 10–20 คน ที่เหลือกว่า 65 คนสามารถสื่อสารด้านภาษาอังกฤษได้น้อยมาก
โดยส่วนใหญ่กลุ่มแรงงานเหล่านี้จะมีทักษะภาษาที่เฉพาะกลุ่มเท่านั้น และทำให้การเติบโตในสายงานดังกล่าวค่อนข้างทรงตัว โดยเฉพะในระดับบริหารงานที่จะเติบโตจากระดับปฏิบัติการต้องการความรู้ ทักษะ และความสามารถในด้านการสื่อสารที่ค่อนข้างดี
แรงงานในกลุ่มเทคโนโลยี โทรคมนาคม ไอที ปัจจุบันสามารถแบ่งสัดส่วนในประเทศไทยได้ที่ร้อยละ 60 จะเป็นในระดับปฏิบัติการ ระดับบริหารงานอยู่ที่ร้อยละ 30 – 35 และกลุ่มประเภท CEO หรือผู้บริหารระดับสูงจะอยู่ที่ร้อยละ 5 – 7 ซึ่งตัวเลขนี้ ปัจจุบันจะเห็นว่าระดับปฏิบัติการและบริหารงานจะใช้คนท้องถิ่นเป็นหลัก ส่วนในระดับ CEO จะเป็นคนต่างชาติ หรือคนที่ใช้ภาษาได้ดี จะเห็นได้ว่าในอนาคตหากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานก็จะตามมาด้วย ซึ่งแต่ละองค์กรเองก็ต้องการแรงงานที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อประสิทธิภาพงานที่ดีตามไปด้วย
ซึ่งคนกลุ่มที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนในอนาคตคือ กลุ่มบริหารงานที่จะมีการดึงคนของแต่ละประเทศเข้ามามีบทบาทการทำงานในประเทศไทยมากขึ้น แต่การเติบโตของธุรกิจประเภทนี้จะมีเทรนด์ใหม่เติบโตขึ้นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจที่เกิดกับแอพพลิเคชั่น สมาร์ทโฟน อุปกรณ์ต่างๆ ที่ตอบสมอง Life Style คนเมือง
ส่วนของค่าตอบแทนบุคลากรเหล่านี้มักมีเรื่องค่าจ้างที่ค่อนข้างสูงอยู่แล้ว โดยบางหน่วยงานเริ่มต้นที่ 15,000 บาท หรือสูงกว่า แต่การทำงานของคนเหล่านี้ต้องสามารถตอบสนองความต้องการของนายจ้างได้ดีด้วยเช่นกัน บุคลากรในสายงานดังกล่าวถือเป็นแรงงานที่ตลาดต้องการเป็นอย่างมาก และตลาดยังขาดแคลนแรงงานในสายงานนี้อีกเป็นจำนวนมาก
ขณะนี้กลุ่ม HR ของหน่วยงานต่างๆ มีการหาบุคลากรในสายงานนี้จากแมนพาวเวอร์กรุ๊ปอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงแต่วันนี้หากตลาดเปลี่ยน แรงงานเป็นที่ต้องการมากขึ้น แต่แรงงานไทยไม่ได้ตอบโจทย์หน่วยงาน หรือองค์กรเหล่านี้ ซึ่งถือว่าได้โอกาส หรือเสียโอกาส เพียงเพราะภาษาที่เรายังด้อยอยู่เพียงนั้นหรือ!!!