กบอ.ยืนยันทำตามคำสั่งศาลปกครองกลาง
คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ประชุมกับฝ่ายกฎหมายของสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ หรือ สบอช. ที่ประชุมเสนอให้นายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะกรรมการวิเคราะห์ความเห็นทางกฎหมาย โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้ามาช่วยดูแล และจะมีการเตรียมการตามมาตรา 52 วรรค 2 ว่าด้วยเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยจะให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ ไปทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA และประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ หรือ HIA ตามมาตรา 67 วรรค 2 ส่วนจะมีการอุทธรณ์คำสั่งศาลหรือไม่ ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยื่นหนังสือต่อนายณรงค์ รัฐอมฤต เลขาธิการ ป.ป.ช. เพื่อขอให้ดำเนินการตรวจสอบการทำหน้าที่ของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย และนายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการพิจารณาคัดเลือกโครงการบริหารจัดการน้ำ ว่า เข้าข่ายเป็นเจ้าหน้าที่รัฐละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ โดยต้องการให้ ป.ป.ช.ดำเนินการภายใน 49 วัน
ขณะเดียวกัน วันนี้ (28 มิ.ย.2556) นายยุน บยอง ฮุน รองประธานฝ่ายธุรกิจต่างประเทศ บริษัทเค-วอเตอร์ ได้ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของผู้อำนวยการสหพันธ์สิ่งแวดล้อมเกาหลีใต้ ที่ระบุว่า บริษัทเค-วอเตอร์ มีสถานะทางการเงินที่ย่ำแย่ โดยชี้แจงว่าอัตราส่วนหนี้สินของ เค-วอเตอร์ ในปัจจุบันเท่ากับร้อยละ 122.8 ซึ่งอัตราส่วนหนี้สินของรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ในเกาหลีใต้เท่ากับร้อยละ 195 จึงถือว่าสถานะทางการเงินของเค-วอเตอร์ มีเสถียรภาพมากกว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ
ส่วนข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทเค-วอเตอร์ ไม่ให้ความสำคัญกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการฟื้นฟูแม่น้ำ 4 สายของเกาหลีใต้ ทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค-วอเตอร์ อธิบายว่าการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของสาหร่ายเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ส่วนปัญหารอยแตกขนาดเล็ก และการรั่วของน้ำ เป็นเรื่องปกติที่แก้ไขเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมยืนยันว่าเค-วอเตอร์มีศักยภาพก่อสร้างโครงการทางผันน้ำ เพราะได้ก่อสร้างไปแล้วถึง 29 แห่งทั่วเกาหลีใต้ จึงมั่นใจว่ามีความเชี่ยวชาญเพียงพอ