ชาวนาประท้วง เสียงเรียกร้องของชาวนาให้คงราคารับจำนำเดิมที่ 15,000 บาท เพราะต้นทุนการเพาะปลูกที่สูง ไม่ได้เป็นเหตุผลที่รัฐบาลใช้เป็นข้ออ้างในการถอยให้กับกลุ่มชาวนา แต่เพราะกระทรวงพาณิชย์ระบุมีแนวทางระบายข้าวได้ โดยจะเร่งส่งออกข้าวทั้งในรูปแบบข้าวสาร ที่ดำเนินการอยู่แล้ว และข้าวนึ่ง ซึ่งรัฐบาลไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้มีเงินมาหมุนเวียนในโครงการอย่างน้อยจนสิ้นสุดฤดูเพาะปลูกข้าวนาปรัง รวมถึงสามารถรักษาวินัยทางการคลัง หรือ ไม่ให้ขาดทุนเพิ่มขึ้นได้
แต่จากมุมมองของ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)และเอกชนในวงการข้าว พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการระบายข้าวของไทยเป็นไปได้ยาก
ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ระบุว่า การระบายข้าวทำได้ยาก เนื่องจากผลผลิตข้าวโลกสูง ประเมินว่าปีนี้ (56) จะมีปริมาณข้าวรวม 485 ล้านตัน จากผู้ผลิตทั้งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และที่สำคัญคือราคาข้าวไทยสูงกว่าราคาตลาด
ราคารับจำนำข้าวของไทยที่ต้นละ 15,000 บาท เมื่อคำนวณเป็นราคาตลาดโลกจะอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐฯ สูงกว่าราคาตลาดเฉลี่ยราว 250 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ กว่า 7,500 บาท แต่ที่ผ่านมาไทยไม่เคยขายข้าวในราคารับจำนำ ต้องขายในราคใกล้เคียงตลาด ซึ่งก็ยังสูงกว่าคู่แข่ง
อย่างเช่นข้าวขาว 5% ก็มีส่วนต่างจากคู่แข่ง 150 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 4,500 บาท และถึงแม้ว่ารัฐบาลจะลดราคารับจำนำลงมาที่ 12,000 บาท ราคาก็ยังสูงกว่าตลาด 3,000 บาท
ส่วนข้าวนึ่ง หากขายในราคาตลาด จะสูงกว่าคู่แข่ง 3,600 บาท แต่หากลดราคารับจำนำ จะช่วยเพิ่มโอกาสขายได้ เพราะราคาจะลงมาใกล้เคียงคู่แข่ง นอกจากนี้การที่ประเทศผู้ซื้อข้าวซื้อในปริมาณเท่าที่ต้องการไม่เผื่อเก็บสต็อก เนื่องจากรู้ว่าในตลาดโลกมีปริมาณข้าวสูง โดยเฉพาะข้าวไทย ที่อาจมีปริมาณสูงกว่า 25 ล้านต้น จากข้าวในโครงการรับจำนำ 2 ปี ก็เป็นอุปสรรคในการระบายข้าว
หากรัฐบาลจะระบายข้าวให้ได้ ต้องขายข้าวสูงกว่าคู่แข่งไม่มากนัก หรืออาจต้องขายราคาเท่ากัน ซึ่งจะหมายถึงผลขาดทุนมหาศาล จากการขายข้าว ในราคาต่ำกว่าราคารับจำนำเกือบ 2 เท่าตัว