เมื่อ
เพลง แฮปปี้เบิร์ด เดย์ ที่นักร้องสาว เจนนิเฟอร์ โลเปซ ร้องอวยพรให้กับ นายกูร์บันกูลี เบอร์ดี มูคาเมดอฟ ประธานาธิบดีเติร์กเมนิสถาน คือการทำตามคำขอในนาทีสุดท้ายของบริษัทผู้จัดคอนเสิร์ต แต่การแสดงครั้งนี้กลายเป็นสิ่งที่นักร้องสาววัย 43 ปีต้องเสียใจ เมื่อผลที่ตามมา คือการถูกองค์กรสิทธิมนุษยชนกล่าวหาว่าเธอได้สนับสนุน1 ในผู้นำเผด็จการที่โหดร้ายที่สุดโดยไม่รู้ตัว
บ่อยครั้งการละเลยภูมิหลังของผู้จ้างงาน ส่งผลให้ศิลปินมากมายต้องถูกครหาว่าให้การสนับสนุนผู้ร้ายในสายตาชาวโลก เช่นครั้งที่ ฮิลารี สแวงค์ นักแสดงเจ้าของออสการ์ 2 สมัย และเวเนสซา เมย์ นักไวโอลินสาว ต้องเสียใจหลังจากไปอวยพรวันเกิดให้กับ รัมซาน คาดีรอฟ ผู้นำผู้โหดร้ายของเชเชนเมื่อ 2 ปีก่อน หรือกรณีที่วิกีลีคเปิดโปงศิลปินชื่อดังทั้ง บียอนเซ่, เนลลี เฟอร์ตาโด หรือ มารายห์ แครีย์ ว่าได้รับค่าตัวนับล้านจากคอนเสิร์ตที่จัดโดยครอบครัวกัดดาฟี อดีตผู้นำเผด็จการของลิเบีย จนภายหลังแต่ละคนต้องนำเงินดังกล่าวไปบริจาคเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนเอง
กระแสที่องค์กรธุรกิจหรือรัฐบาลดึงศิลปินดังระดับโลกมาขึ้นคอนเสิร์ตในประเทศโลกที่ 3 เพื่อโปรโมตตนเอง กลายเป็นโอกาสทำเงินของนักร้องชั้นนำในวันนี้ เช่น ประเทศโครเอเชียที่เชิญ สนูปด็อก มาแสดงถึงบ้านเกิดเพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชาติ ซึ่งค่าจ้างแต่ละครั้งก็อาจทำเงินให้ศิลปินได้มากกว่าเปิดการแสดงในชาติตะวันตกทั้งสัปดาห์ โดย 50 เซนต์ ได้ค่าโชว์ตัวที่ประเทศอังโกลาสูงสุดในอาชีพนักร้อง มากถึงวันละ 1,400,000 ดอลลาร์
การถูกเชื่อมโยงกับการเมืองโดยไม่ตั้งใจของเจโล ทำให้ประเด็นความสะเพร่าในการรับงานของศิลปินถูกพูดถึงอีกครั้ง โดย อเมริกัน ทาเลนท์ อเจนซี่ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดงานแสดงให้ศิลปินอเมริกันในต่างประเทศ บอกว่า ทางบริษัทต้องตรวจสอบภูมิหลังของผู้จัด เพื่อให้มั่นใจว่านักร้องจะไม่ไปแสดงในประเทศที่ผู้นำเป็นเผด็จการ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการไปสร้างความบันเทิงให้กับบุคคลไม่เหมาะสม ขณะที่ราเชล ไวน์การ์เทน ผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดชี้ว่า หากเกิดกรณีเช่นนี้ ศิลปินก็ไม่ควรเสียดายการบริจาคเงินที่ได้มาจากการแสดง เพราะนี่คือการรักษาศรัทธาของแฟนเพลงให้เชื่อว่าศิลปินที่ตนรัก ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาลที่เป็นศัตรูของประชาชน