การออกแบบชุดเพื่อป้องกันภัยสำหรับผู้หญิง
ชุดชั้นในตัวนี้ อาจดูไม่มีพิษภัย แต่หากแตะต้องโดยไม่ได้รับอนุญาตอาจถูกช็อตถึง 82 ครั้ง ด้วยกระแสไฟฟ้าแรง 3,800 กิโลโวลต์ นี่คือบราป้องกันการถูกข่มขืนของนักศึกษาชาวอินเดีย ที่ติดตั้งเซ็นเซอร์รับแรงกด ป้องกันการสัมผัสไม่พึงประสงค์ และยังติดตั้ง GPS ระบุพิกัดเพื่อแจ้งเตือนไปยังคนใกล้ชิดหากเกิดเหตุร้าย หรือกระโปรงอำพรางตัว ที่พอดึงขึ้นมา ก็อาจกลายร่างเป็นเครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มกระป๋อง ความคิดสร้างสรรค์ปนอารมณ์ขันของ อาย่า ทสึคิโอกะ นักออกแบบสาวชาวญี่ปุ่น ที่นำแรงบันดาลใจจากการพรางตัวของนินจาโบราณมาใส่ในชิ้นงาน จนนิตยสารนิวยอร์กไทมส์ตั้งฉายาว่าดีไซเนอร์ “พรางในเมือง” ส่วนหนึ่งของงานออกแบบที่ไม่เพียงเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้หญิง แต่ยังเป็นเครื่องแต่งกายที่ช่วยให้อุ่นใจ ซึ่งงานออกแบบเพื่อป้องกันอาชญากรรมเหล่านี้ยังต้องอาศัยความเข้าใจของผู้ ใช้เป็นหลัก
การคิดค้นเครื่องแต่งกายปกป้องผู้หญิงจากการลวนลามไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งส่วนมากออกแบบให้รองรับกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่นเข็มขัดปกป้องพรหมจรรย์ในศตวรรษที่ 18 หรือหมวกที่ถูกตกแต่งด้วยเข็มยาว 13 นิ้ว อีกอาวุธป้องกันตัวของผู้หญิงในยุควิคตอเรียน และมีหลายครั้งที่ผู้หญิงในอดีตต้องอำพรางตัวด้วยการแต่งตัวเป็นชาย อย่าง ในศตวรรษที่ 15 ที่ชุดเกราะถูกใช้เป็นเครื่องปกปิดเพศสภาพของผู้หญิง ซึ่งมีหลักฐานว่า จอน ออฟ อาร์ค (Joan of Arc) วีรสตรีชาวฝรั่งเศส ต้องสวมใส่ชุดเกราะของทหารเพื่อป้องกันตัวเองจากการถูกข่มขืน
ปัจจุบันสถิติของผู้หญิงที่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกข่มขืนยังมีจำนวนมากจนน่า ใจหาย ในสหราชอาณาจักรมีผู้หญิงถูกทำร้ายร่างกายสูงถึง 69,000 คนในปี 2012 ขณะที่ในประเทศอินเดียมีผู้หญิงถูกข่มขืนทุก 20 นาที ส่วนใหญ่ผู้หญิงที่ตกเป็นเป้าหมายมักเป็นคนรูปร่างเล็ก และไม่ได้ระมัดระวังตัวเท่าที่ควร เช่น คุยโทรศัพท์มือถือขณะทำกิจกรรมอื่นไปด้วย แม้จะไม่ได้ผลเต็มร้อย แต่เราก็ได้เห็นประโยชน์ของงานออกแบบที่สร้างสรรค์ได้มากกว่าเรื่องของความงาม