ความกังวลต่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยวในพื้นสูงอำเภอแม่แจ่ม
ด้วยเงื่อนไขการรับเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย และ ยา จากบริษัททุนไปเพาะปลูกเพียง 3 เดือน ก็สามารถเก็บผลผลิตไปขาย และหักค่าใช้จ่าย เหลือรายได้ก้อนใหญ่ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พื้นที่สูงในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงถูกชาวบ้านบุกรุกแผ้วถาง เพื่อขยายพื้นที่ทำไร่ข้าวโพด
ไม่เพียงแค่การบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด แต่ปัจจุบันอำเภอแม่แจ่ม ยังมีการปลูกยางพาราเพิ่มมากขึ้นด้วย ทำให้หลายฝ่ายวิตกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพราะวงจรของการปลูกข้าวโพด เริ่มต้นจากการถางป่า ใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช เมื่อเก็บผลผลิต แล้วก็มักจะเผาตอซังและเปลือกข้าวโพด ซ้ำเติมภาวะหมอกควัน เพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบใหม่ ขณะที่ยางพาราเป็นพืชไม่มีรากแก้ว จึงเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติดินโคลนถล่ม
ในปี 2544 อำเภอแม่แจ่ม มีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพียง 18,834 ไร่ ไล่เรี่ยกับพื้นที่เพาะปลูกกะหล่ำปลี จำนวน 19,847 ไร่ และยังมีหอมแดงอีก 9,880 ไร่ หากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าพื้นที่ปลูกข้าวโพดได้เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ขณะที่พื้นที่ปลูกกะหล่ำปลี และหอมแดงกลับลดลง โดยปี 2554 พื้นที่ปลูกข้าวโพดที่ขึ้นทะเบียน อยู่ที่ 105,465 ไร่ ส่วนกะหล่ำปลี เหลือ 4,555 ไร่ และหอมแดง 9,250 ไร่