สมาคมสื่อฯ 4 องค์กร ค้าน ร่างประกาศ กสทช.คุมเนื้อหารายการ สอดไส้ แทรกแซงสื่อ-ขัดรธน.
มีการประชุมด่วนของตัวแทน 4 องค์กรวิชาชีพสื่อในวันที่ 9 กรกฎาคม ประกอบด้วยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เมื่อวานนี้ เห็นชอบ "(ร่าง) ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เรื่อง หลักเกณฑ์การกำกับดูแลเนื้อหารายการในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. …." เนื่องจากเห็นว่าร่างประกาศฯ ดังกล่าวมีเนื้อหาบางอย่าง ที่อาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการทำงานของสื่อมวลชน
จึงข้อสังเกตต่อร่างประกาศฯ ดังกล่าว ใน 4 ประเด็น
1.ร่างประกาศฯ ดังกล่าว น่าจะขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ที่บัญญัติให้สื่อมวลชนมีเสรีภาพในการนำเสนอข่าว แต่ร่างประกาศฯ ดังกล่าว ในหมวดที่ 3 กลับกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาต ซึ่งได้แก่เจ้าของสื่อ ที่เป็นผู้ประกอบการหรือนายทุน สามารถเข้ามาแทรกแซงการนำเสนอข่าวได้
2.ร่างประกาศฯ ดังกล่าว ขัดแย้งกับแนวทางที่ กสทช.กำลังดำเนินการเรื่องให้สื่อกำกับดูแลกันเองเรื่องของจริยธรรมจรรยาบรรณ
3.เนื้อหาส่วนใหญ่ในร่างประกาศฯ ดังกล่าว หลายข้ออาจมีปัญหา อาทิ หมวดที่ 1 เขียนโดยขยายอำนาจเกินกว่าที่กำหนดไว้ในมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 หมวดที่ 2 หลายข้อใช้ถ้อยคำกว้างเกินไปจนไม่อาจปฏิบัติได้จริง และหมวดที่ 3 ที่เปิดโอกาสให้นายทุนแทรกแซงสื่อได้ และ
4.ที่ประชุมอยากให้มีการปรับแก้ไขร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ให้สอดคล้องกับการสิทธิเสรีภาพในการทำงานของสื่อ
นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ร่างประกาศฯ ดังกล่าว หากคนทั่วไปอาจเห็นว่าดี ที่การคุมสื่อจะมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน แต่ข้อบกพร่องที่สุดคือการเปิดช่องให้เจ้าของสื่อสามารถแทรกแซงการนำเสนอข่าวได้โดยตรง
ทั้งนี้ ตัวแทน 4 องค์กรสื่อ มีมติร่วมกันว่าจะออกข้อเสนอในการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศฯ ดังกล่าว และจะนำไปยื่นในการประชุมรับฟังความคิดเห็นกลุ่มย่อยที่จัดขึ้นโดย กสทช.ในวันที่ 18 ก.ค.2556 ที่โรงแรมเซนจูรี
สำหรับเนื้อหาในร่างประกาศฯ ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมตัวแทน 4 องค์กรสื่อเห็นว่าน่าจะเป็นปัญหา มีอาทิ ข้อ 17 ที่กำหนดให้นักข่าวห้ามปกปิดแหล่งข่าวเว้นแต่มีกฎหมายกำหนด ซึ่งไม่มีความชัดเจนว่าหมายถึงกฎหมายใด และเป็นไปได้ว่าในอนาคต กสทช.อาจมีการส่งคนมาตรวจอบเนื้อหาก่อนออกอากาศ โดยการบังคับให้เปิดเผยแหล่งข่าวมีลักษณะคล้ายเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ข้อ 25 ที่กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตหรือ ผอ.สถานีมีหน้าที่ตรวจสอบหรือระงับการออกอากาศรายงานที่มีลักษณะต้องห้ามตามที่ร่างประกาศฯ ดังกล่าวกำหนด ที่เป็นการเปิดช่องให้ผู้รับใบอนุญาต ที่เป็นผู้ประกอบการหรือนายทุนเข้าแทรกแซงการนำเสนอข่าวได้โดยตรง ฯลฯ เป็นต้น