นักวิชาการสารสนเทศชี้ ผู้ใช้งานสื่อออนไลน์ควรคำนึงผลกระทบ
การกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืนของนายจักรพันธ์ นุพอ หรือ ก็อต พนักงานรักษาความปลอดภัย ภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หลังมีผู้ตั้งแฟนเพจในเครือข่ายสังคมออนไลน์เฟสบุ๊ก จนมีประชาชนสนใจติดตาม กว่า 5 หมื่นคน ภายในเวลาเพียง 3 วัน สะท้อนอิทธิพลของสื่อออนไลน์ในปัจจุบันที่แพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว
แต่กระแสสื่อออนไลน์กลับส่งผลด้านลบกับ รปภ.หนุ่มรายนี้ เนื่องจากมีทั้งข้อมูลจริงและข้อมูลที่บิดเบือน จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกเช่นเดิม
นักวิชาการด้านสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ระบุว่า แม้สื่อออนไลน์จะมีความรวดเร็ว เข้าถึงง่าย และ มีต้นทุนต่ำกว่าสื่ออื่นๆ แต่สื่อออนไลน์ก็เสมือนดาบสองคม แม้ที่ผ่านมาจะมีกฏหมายข้อบังคับในการใช้คอมพิวเตอร์ แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ดังนั้นผู้ที่ใช้งานจึงควรตระหนักถึงผลกระทบที่จะติดตามมา
ที่ผ่านมากระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้ออกมาเตือนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะ Facebook Instagram และ Twitter ว่า แม้จะเข้าถึงได้เร็ว รวมถึงแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี แต่บางครั้งอาจกระทบสังคมสังคมในวงกว้างได้ เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ใช้ไม่ได้คัดกรองข้อมูลเพียงพอ และอาจผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ดังนั้นผู้ใช้จะตรวจสอบข้อมูลก่อนเผยแพร่ หรือแสดงความเห็นทุกครั้ง