ทารกน้ำหนักน้อยเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อน
เมื่อว่างจากการทำงาน นางศิริพร เพ็ชร์ขุ้ม ต้องคอยมาดูแลลูกสาว วัยเดือนเศษ ด้วยความเป็นห่วง หลังแพทย์ ยังให้ทารกอยู่ในตู้อบสำหรับให้ความอบอุ่น และเครื่องช่วยหายใจ เพื่อเฝ้าสังเกตอาการต่อไปอีกประมาณ 2 เดือน ภายในหออภิบาลทารกแรกเกิด โรงพยาบาลสุราษฏร์ธานี เนื่องจากทารกคลอดก่อนกำหนด ทำให้มีน้ำหนักตัวเพียง 850 กรัม ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน
สาเหตุที่สุราษฏร์ธานี ร้อยละ 50 เกิดจากภาวะการติดเชื้อระหว่างตั้งครรภ์ และร้อยละ 50 ไม่ทราบสาเหตุ โดยพบอัตราการคลอดก่อนกำหนดแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลล่าสุดในปี 2555 พบทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่า 2,500 กรัม สูงถึง 964 คน
การดูแลทารกภาวะวิกฤต จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะภาวะเจ็บป่วยในทารกแรกเกิด อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน และปัญหาเรื้อรังได้ โดยแพทย์จะประเมินอาการเป็นรายบุคคล ซึ่งหากทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยผ่านพ้นวิกฤติแล้ว จะถูกส่งต่อไปยังหอผู้ป่วยกึ่งวิกฤต เพื่อดูแลต่อเนื่อง จนทารกมีสุขภาวะที่ดี
หลังเข้าร่วมพัฒนาเครือข่ายบริการทารกแรกเกิดน้ำหนักตัวน้อยกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2553 ทำให้อัตราการรอดชีวิตของทารกแรกเกิดน้ำหนักน้อยกว่า 1,000 กรัม ที่เข้ารับการรักษาในหอทารกแรกเกิดวิกฤต มีอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้น จาก ร้อยละ 39.29 เพิ่มเป็น ร้อยละ 64.86 ในปี 2555
ิ