บรรเลงเพลงลูกกรุง ผ่านไวโอลินเก่า
รู้ใจทั้งเพื่อนร่วมวง และไวโอลินตัวเก่งที่อายุกว่า 200 ปี ครั้งนี้หยิบเพลงน้ำตาแสงใต้ ถ่ายทอดความรู้สึกเศร้าอาดูรด้วยเครื่องสายเสียงสูง ฝีมือบรรเลงของ กำแหง ทับงาม นักดนตรีรักอิสระ ที่หันมาเรียน และเล่นไวโอลินจริงจังหลังจากบิดาจากไป ทิ้งไว้แต่ไวโอลินตัวเก่งให้ดูต่างหน้า เมื่อ 20 ปีก่อน จนพบกับ ครูสุทิน เทษารักษ์ ครูเพลงไวโอลินแถวหน้าของไทย ซึ่งมีชื่อเสียงเรื่องการบรรเลงแบบหวือหวาหาตัวจับได้ยาก และรับกำแหงเป็นศิษย์อีกคน
หากว่างตรงกันลูกศิษย์จะมารวมตัว ทั้งร้องและเล่นในห้องเล็กๆ ย่านรามอินทรา พื้นที่ส่วนตัวของครูกำแหง มีไว้ทั้งซ้อม ซ่อม และเก็บสะสมไวโอลิน จึงไม่แปลกที่ผู้คนในละแวกนี้จะได้ยินเพลงลูกกรุงในวันวานแว่วมา ด้วยสำเนียงเครื่องดนตรีฝั่งตะวันตก ทั้งไวโอลิน กีต้าร์ และดับเบิลเบส
ไม้ยิ่งเก่า เนื้อยิ่งแห้ง เสียงยิ่งดี นี่เป็นเพียงเหตุผลหนึ่งที่ครูกำแหง หลงรักไวโอลินเก่า อายุกว่า 200 ปี ที่ได้มาเพราะเจ้าของถูกชะตาเลยมอบให้ไว้บรรเลง และสะสม แต่เทียบไม่ได้กับที่มาของเครื่องดนตรีชิ้นนี้ ที่เชลยอังกฤษ สมัยสงครามมหาเอเชียบูรพามอบให้ชาวไทยเป็นสินน้ำใจที่คอยช่วยเหลือ
twinkle little star ถือเป็นเพลงพื้นฐาน ซึ่งอาจารย์กำแหง เคยฝึกเล่นไวโอลินด้วยตัวเองโดยใช้ประสบการณ์จริง แต่ยืนยันว่าการเรียนดนตรีที่ดี ต้องไม่ทิ้งเรื่องทฤษฏีด้วย
หากเห็นความตั้งใจจริง ครูกำแหงจะรับสอนไวโอลินแบบไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียงมีข้อแม้ให้ศิษย์นำความรู้ที่ได้ กลับคืนสังคมบ้าง เหมือนที่ครูมักไปเล่นดนตรีที่โรงพยาบาลพญาไท ทุกวันเสาร์คลายทุกข์ให้ผู้ป่วย ที่ตลาดน้ำเนื่องเขตต์ ทุกวันหยุด รวมถึงมีกิจกรรมร่วมกับวัดหลายแห่ง หรือการรวมตัวกันของชมรมนักดนตรีอาวุโสทุกครั้งที่มีโอกาส โดยครูเผยว่า เรื่องวัยไม่สำคัญเท่าใจสู้ เพราะศิษย์ส่วนใหญ่เป็นวัยเก๋า อายุกว่า 80 ปีไม่ช้าสำหรับการเรียนดนตรี ชีวิตส่วนหนึ่งของนักดนตรีวัย 66 ปี ยังยืนยันใช้เสียงไวโอลินที่รัก บรรเลงความสุขส่งถึงผู้คนรอบตัว