วิปรัฐบาล-สภาฯ เห็นพ้องกันเตรียมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม 7 ส.ค.นี้
คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล มีมติเห็นชอบเดินหน้าพิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณาตามวาระที่ค้างอยู่ โดยเป็นวาระเรื่องเสนอใหม่ ลำดับแรก คือ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับที่ นายวรชัย เหมะ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทยและ 40 ส.ส.เป็นผู้เสนอ
ทั้งนี้ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร อ้างว่า การเลือกวาระในการนำเสนอครั้งนี้ เป็นไปตามลำดับ เนื่องจากสภาฯจะต้องพิจารณาเรื่องที่ค้างอยู่ก่อน ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่ก่อนหน้านี้คาดว่า จะถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาก่อนนั้น ไม่สามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในสัปดาห์หน้าได้
ด้าน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการนำ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่การพิจารณา ไม่น่าวิตกกังวล เพราะหากดูจากหลักการ การเลื่อนกฎหมายฉบับนี้ขึ้นมาพิจารณาเป็นวาระแรก เป็นการดำเนินการไปตามขั้นตอนเท่านั้น ซึ่งหากฝ่ายใดไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างฉบับดังกล่าว ก็ควรไปทำงานร่วมกันในชั้นกรรมาธิการ แทนที่จะคัดค้าน
ส่วนความเคลื่อนไหวของ นายวรชัย เหมะ ผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เดินทางเข้าพบ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือถึงการนำกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณา
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า การที่วิปรัฐบาล ต้องการให้มีการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ในวันที่ 7 สิงหาคม เป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง เพราะรัฐบาลไม่สนใจแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน แต่เห็นเรื่องการเมืองของคนเพียงกลุ่มเดียว ที่ต้องการจะได้รับการนิรโทษกรรมเป็นเรื่องสำคัญที่สุด นอกจากนี้ยังเห็นว่า การพิจารณาดังกล่าว ไม่มีหลักประกันหรือความมั่นใจว่า จะไม่มีการพ่วงกฎหมายฉบับอื่น หรือสอดแทรกเรื่องอื่นเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังย้ำว่า ตนไม่เชื่อมั่นคำกล่าวอ้างที่ระบุว่า กระทรวงมหาดไทยได้ สำรวจความเห็นคนส่วนใหญ่แล้วว่า ต้องการให้มีการนิรโทษกรรม เพราะสภาพในปัจจุบันไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่า เป็นไปอย่างที่มีการกล่าวอ้าง ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์ จะขอคัดค้านในสภาฯ ให้ถึงที่สุด
ขณะที่ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ มีความเป็นห่วงว่า การเดินหน้าผลักดันร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม จะมีความขัดแย้ง เพราะจะมีภาคประชาชนหลายส่วนมารวมตัวชุมนุม ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีมติให้รัฐบาลถอน ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ พ.ร.บ.ปรองดองทุกฉบับออกมา
ส่วนกรณีที่นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ได้มีการทำความเข้าใจกันแล้วในที่ประชุม ซึ่งนายอลงกรณ์ เข้าใจและเห็นตรงกันว่า จะไม่มีการเสนอร่างจาก ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จนกว่ารัฐบาลจะถอนร่างทั้งหมดออกมา
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของ ญาติผู้เสียชีวิตเหตุการณ์สลายชุมนุมปี 2553 ที่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้มีการการผลักดันร่างนิรโทษกรรม ฉบับประชาชน เนื่องจากเห็นว่า ร่างฉบับ นายวรชัย เป็นการนิรโทษกรรมให้ฝ่ายทหาร และตำรวจ ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของประชาชน โดยมีรายงานว่า พรรคเพื่อไทยจะนำร่างดังกล่าว เสนอให้ที่ประชุมพรรคเพื่อไทยพิจารณาในวันที่ 30 กรกฎาคม ก่อนสรุปแนวทางดำเนินการ ว่าจะสนับสนุนร่างฯ ฉบับนี้หรือไม่