การประชุมคณะกรรมการป้องกันภัยพิบัติและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน หรือ กปน.นัดแรก โดยมีนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน เพื่อหารือถึงมาตรการในการเข้มงวดการขนส่งน้ำมัน และอุปกรณ์การใช้งานให้มีความพร้อม ปลอดภัยรัดกุมในการดำเนินงาน รวมถึงการกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
นายชัชชาติ กล่าวว่าได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนจำนวน 6 คน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จทั้งหมดและคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1 เดือน สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพยากรทางทะเล และการสูญเสียโอกาสและรายได้ในการประกอบอาชีพ อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลความเสียหายทั้งหมดจากผู้ได้รับผลกระทบ และจะเจรจากับบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ซึ่งหากไม่ได้ข้อสรุปจะให้กรมเจ้าท่า เป็นตัวแทนในการฟ้องร้องค่าเสียหายต่อไป
นายวิเชียร จุ่งรุ่งเรือง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าได้นำรายละเอียดความเสียหายทั้งหมดที่มีการติดตามตั้งแต่ต้น ขั้นตอนการจัดการ รวมถึงชนิดและจำนวนสารเคมีที่ขออนุญาตใช้ และการดำเนินการหลังเก็บกู้คราบน้ำมัน รายงานให้ที่ประชุมรับทราบเพื่อสรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา
ขณะที่นายแพทย์บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยัน กระทรวงสาธารณสุข มีกระบวนการดูแลความปลอดภัยอาหารทะเลอย่างเป็นระบบ โดยมีการตรวจวิเคราะห์หาสารพีเอเอช และสารโลหะหนักแล้ว ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ จะทราบผล จากนั้น อย. จะประเมินหามาตรการควบคุมความปลอดภัยอาหารอีกครั้ง ทั้งนี้ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับกระแสข่าวการปนเปื้อนของสารพิษ โดยเฉพาะน้ำปลาที่วางตามท้องตลาด ยังได้เกณฑ์มาตรฐานของ อย.
สำหรับการคืนรางวัลลูกโลกสีเขียว ซึ่งเป็นรางวัลที่ ปตท.ให้การสนับสนุน โดยกลุ่มผู้เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวจากปตท. ได้รวมตัวประท้วงต่อเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลที่จ.ระยอง ซึ่งล่าสุดมีผู้ประกาศคืนรางวัลกับบริษัทป.ต.ท. เป็นจำนวน 12 ราย โดยเริ่มกิจกรรมตั้งแต่เวลา 6.00 น.ที่ผ่านมาและจำทำการคืนรางวัลในเวลา 15.30 น. และประกาศเจตนารมณ์ในการคืนรางวัลครั้งนี้